วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โจทย์ฝึกเขียน - สื่อความรู้สึกด้วยการแสดงออก

นิยายคือเรื่องราว เหตุการณ์ ความเป็นไปของตัวละคร แต่ถ้ามีแค่เหตุการณ์โดยไม่มีความรู้สึก ก็คงคล้ายกับการอ่านประวัติศาสตร์ ปี พ.ศ. นั้นนี้ มีคนชื่อนี้ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้ผลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อ่านแล้วเข้าใจมั้ย? ก็เข้าใจนะ แต่สนุกมั้ย อันนี้ขอคิดอีกที

นิยายจะสนุกได้ก็มีความรู้สึก ตัวละครเจอสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ แล้วยังไง? เขาหรือเธอรู้สึกยังไงบ้าง มีความสุขมั้ย ทุกข์มั้ย ดีใจ เสียใจ กลัว ผิดหวัง สมหวัง มีความหวัง คนอ่านจะได้ร่วมรับรู้ไปกับตัวละครครับ

ในงานเขียนรูปแบบนิยาย การบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครให้คนอ่านรู้ก็มีหลายวิธีครับ วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ บอกออกมาตรงๆ นี่แหละ (แบบนี้ภาษาการเขียนเรียกว่า tell) เช่น

เขารู้สึกกลัว  
เขาลังเล ไม่แน่ใจว่าควรจะเดินต่อไปหรือไม่ 
เขาสงสารเธอเหลือเกิน

แต่ก็มีวิธีที่บอกให้คนอ่านรู้ได้อีกหลายวิธีโดยที่ไม่เขียนคำแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมาตรงๆ ก็คือบอกให้คนอ่านรู้ผ่านการแสดงออกของตัวละคร (แบบนี้ภาษาการเขียนเรียกว่า show ครับ)

การแสดงออกบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวละครไม่ได้ตั้งใจ เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น

เขาใจเต้นแรง มือสั่น เหงื่อชื้นไปหมด

การแสดงออกบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่ตัวละครตั้งใจทำ เช่น

เขาเม้มริมฝีปากแน่น ตบโต๊ะปังใหญ่ หันหลังขวับ ย่ำโครมๆ ออกจากห้องไป

ตำราหลายเล่มแนะนำว่าให้ Show. Don’t tell. เพราะการแสดงออกทำให้คนอ่านได้ร่วมมีประสบการณ์ไปกับตัวละครด้วย (เหมือนนั่งอยู่ด้วยกัน?) แต่ที่จริงสองวิธีนี้มีประโยชน์ทั้งคู่นะครับ และเหมาะกับสถานการณ์ที่ต่างกัน เพียงแต่ว่าการ show (แสดง) ให้คนอ่านเห็นเองนี่ บางทีคนเริ่มเขียนใหม่ๆ อาจจะรู้สึกติดขัด ไม่รู้จะแสดงออกมายังไง พอนึกไม่ออกก็หันไป tell (บอกออกไปโต้งๆ) ตำราเลยเน้นจุดนี้กันมาก

คุณพีทก็มีปัญหาเดียวกันครับ รู้ล่ะว่าอยากจะโชว์ แต่จะโชว์ยังไงล่ะ!

สัปดาห์นี้เลยตั้งโจทย์ให้ตัวเองฝึก ลองดูซิว่า เราจะสื่อความรู้สึกของตัวละครด้วยการแสดงออกของเขายังไง โดยไม่ต้องบอกความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด

โจทย์ฝึกเขียน สื่อความรู้สึกด้วยการแสดงออก
เขียนบรรยายความรู้สึกของตัวละครหนึ่งคน โดยไม่บอกตรงๆ ว่าตัวละครนั้นรู้สึกอะไร แต่ให้ตัวละครแสดงออกมาให้คนอ่านรับรู้ (ความยาว 5 – 15 บรรทัด)

ใครสนใจมาร่วมฝึกเขียนด้วยกันนะครับ

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

โจทย์ฝึกเขียน – ความรู้สึกกับประสาทสัมผัส

หนึ่งในกิจกรรมที่คุณพีทตั้งใจว่าจะทำสัปดาห์ละครั้งคือการฝึกเขียนครับ

การเขียนนิยายออกมาเป็นเรื่องนี่ นอกจากจะใช้ (1) ทักษะในการสร้างเรื่องราว และ (2) ทักษะในการเล่า แล้วก็ยังต้องใช้ (3) ทักษะทางภาษา หยิบจับคำมาเรียงเป็นประโยค เป็นย่อหน้า เพื่อสื่อเรื่องที่เล่านั้นให้ไปถึงจิตใจคนอ่านด้วย

พอไม่ได้เขียนนานๆ เข้าก็รู้สึกเลยครับว่า ฝืด! นึกคำไม่ออก เขียนประโยคไม่ถูก บางทีมีสิ่งที่อยากบอก แต่พอเขียนออกมาเป็นประโยคแล้ว มันไม่ตรงกับที่ต้องการซะทีเดียว

เลยทำให้รู้ว่า ทักษะการใช้ภาษาเองก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน ยิ่งฝึกมาก เราก็ยิ่งใช้ภาษาได้คล่อง และสื่อเรื่องที่อยากเล่าออกมาได้ตรงเป้าตรงใจมากที่สุด

คุณพีทก็เลยคิดว่า แต่ละสัปดาห์จะตั้งโจทย์ให้ตัวเองฝึกเขียนหนึ่งข้อ โดยเน้นที่การใช้ภาษานี่แหละ (การสร้างเรื่องเล่าเรื่องไปว่ากันตรงอื่น) ถ้าเราฝึก แค่สัปดาห์ละครั้ง แต่ละเดือนๆ ก็คงคล่องขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว

ไหนๆ ก็ตั้งโจทย์แล้ว จะฝึกคนเดียวก็ออกจะน่าเสียดาย ก็เลยเอามาแบ่งปันตรงนี้ครับ เผื่อว่าใครสนใจจะร่วมวงลงสนามด้วยกัน อย่างน้อยที่สุดถ้าใครเก่งอยู่แล้วก็ยังเป็นการลับฝีมือไว้ให้คมตลอดเวลา

กติกามีข้อเดียวคือ อ่านโจทย์แล้วเขียน เขียนเองอ่านเองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอวดใคร แต่ถ้าใจดีอยากแบ่งปันหรือผลัดกันดู จะมาโพสต์ไว้เป็นคอมเมนต์ที่นี่ก็ได้ครับ หรือจะโพสต์ในบล็อก ในเฟซบุ๊ค ในเว็บส่วนตัวตามสะดวก แล้วเอาลิงก์มาโพสต์ที่นี่เรียกคุณพีทไปดูก็ได้ครับ

โจทย์ฝึกเขียน ความรู้สึกกับประสาทสัมผัส 
เขียนบรรยายความรู้สึกของตัวละครหนึ่งคน จะเป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ แต่ให้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างน้อยสี่ในห้าอย่างมาช่วยประกอบการบรรยาย ความยาวตั้งแต่ 5 15 บรรทัด  
(ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้แก่ ตา-เห็นภาพ หู-ได้ยินเสียง จมูก-ได้กลิ่น ลิ้น-รู้รส สัมผัสทางกาย-ร้อน เย็น แข็ง อ่อน เปียก แห้ง ฯลฯ)

ขอให้สนุกกับการฝึกเขียนครับ




คุณพีททำการบ้านเสร็จแล้วครับ ตอนเขียนโจทย์นึกว่าง่าย เอาเข้าจริงยากชะมัด ฮ่าๆ

            พิถยะใจหายวูบ... ไม่มี! บนโต๊ะไม่มี! หลังตู้ก็ไม่มี! ที่หัวเตียงก็ไม่อยู่! เขาหมุนรอบตัวจนขาแทบจะพันกัน กลิ่นการบูรยังแผ่วจางอยู่ในห้อง แล้วมันจะหายไปได้ยังไง!
            ชายหนุ่มคว้าชายผ้าปูเตียงตลบขึ้น เสียงกริ๊กดังมาจากซอกข้างฝา พิถยะหันขวับใจเต้นแรง คุกเข่าลงแนบตามอง... ไม่เห็นอะไร... ชายหนุ่มพ่นลมหายใจพรู่ใหญ่ ยังไงล่ะนี้? หันซ้ายหันขวา จะขยับเตียงก็ติดกองเอกสารที่เขาฝากไว้ชั่วคราวจนเต็มพื้น ไฟฉายก็ไม่รู้อยู่ไหนไม่อยากจะเสียเวลาหา อย่ากระนั้นเลย ห้องเราคงไม่มีงูหรอกนะ...
            เขาทำใจกล้าค่อยๆ สอดแขนเข้าไปใต้ขอบเตียงตรงที่วางชิดฝา ยังไม่ทันควานหานิ้วก็ไปโดนผิวเรียบแข็งโค้งขนาดกำลังพอดีมือ ชายหนุ่มยิ้มร่าตาโตใจเต้นแรงคว้าหมับ
            เจอแล้ว! ยาหม่องตรากระต่ายขวดโปรดคู่ใจ!

เพื่อนๆ เขียนแล้วเป็นไงมั่งครับ เอามาแบ่งกันอ่านบ้างก็ยินดีนะครับ จะได้เห็นหลายๆ แบบแลกเปลี่ยนกันครับ

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แค่สัปดาห์ละครั้ง

หายไปเกินปี ข้อแก้ตัวนี่มีเยอะเลย แต่เสียดายหน้ากระดาษ (หรือหน้าจอ)

เรื่องการสร้างไอเดียเพื่อเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ยังค้างไว้ก่อนนะครับ หรือจะจบไปดื้อๆ แค่นั้นดี ฮ่าๆ ปีใหม่มาเริ่มเรื่องใหม่ๆ กันดีกว่า

ปัญหาหนึ่งที่คนเยอะแยะเจอเหมือนๆ กันคือ มีอะไรที่อยากทำ แต่ไม่ได้ทำซักที บางทีตอนปีใหม่ตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างฮึกเหิม พอหมดปีถึงพบว่าลืมไปซะสนิทก็มี

นักเขียนและคนอยากเขียนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน บางทีสิ้นปีแล้วมานั่งเกาคางสงสัย ว่าทำไมปีนี้เขียนได้น้อยจัง หรือไม่จบซักเรื่องเลย (อันนี้อย่างเศร้า)

เมื่อวันก่อนคุณพีทเกิดความคิดขึ้นมาอย่างนึงครับ ตอนที่เราฮึกเหิมมากๆ ตั้งหน้าตั้งตาทำอะไรซักอย่างติดๆ กันหลายๆ วัน วันละหลายๆ ชั่วโมง งานมันก็คืบหน้าดีน่าชื่นใจ แต่พอมีเรื่องอื่นวนเวียนเข้ามา งานอื่นบ้าง คนอื่นบ้าง สิ่งอื่นบ้าง ไอ้ที่เคยได้ทำต่อเนื่องก็แผ่วไป หรือหายไปเลย (อันนี้อย่างบ่อย)

คุณพีทก็เลยนึกขึ้นมาว่า เอ... ถ้าเราพยายามหาเวลาทำสิ่งที่อยากทำนั่นให้ได้แค่สัปดาห์ละครั้ง ไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องนาน แต่ทำให้ได้ทุกสัปดาห์ รวมๆ กันแล้วนี่ แต่ละปีๆ ก็คงได้เยอะอยู่เหมือนกันนะ

แล้วตอนสิ้นปีก็จะไม่ได้ต้องมาเกาคางสงสัย ว่าทำไมปีนี้ไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่เลย

ถ้าสัปดาห์นึงตั้งใจเขียนให้ได้หนึ่งบท ปีนึงก็ได้เหนาะๆ แล้วห้าสิบบท ได้เรื่องขนาดกลางสองเรื่องเลยนะนั่น

ถ้าสัปดาห์นึงท่องศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้แค่สิบคำ ปีนึงก็ซัดเข้าไปแล้วห้าร้อย ไม่เก่งคราวนี้แล้วจะเก่งคราวไหน

ถ้าสัปดาห์นึง... (โปรดเติมข้อความตามใจชอบ)

คุณพีทเกิดความคิดขึ้นมาแล้วก็นั่งเขียนลงกระดาษ ช่วงนี้มีอะไรอยากทำเยอะเหลือเกิน จนจะแบ่งเวลาไม่ถูก แถมไอ้อะไรๆ ที่เคยตั้งใจเอาไว้ก่อนมันก็แผ่วหายไป (ตามวิถีธรรมชาติเอวัง) ส่วนนึงเป็นเพราะตอนฮึกเหิมเราตั้งเป้าไว้สูงด้วย (เช่น เดินออกกำลังสัปดาห์ละสามครั้ง) พอมีงานสนุกโผล่เข้ามาก็ติดพัน ผัดผ่อนตัวเองว่าขอทำงานก่อน ไว้ค่อยเดินวันหลัง (พอวันหลังก็ฝนตกไม่ยอมเดินอีก)

อย่ากระนั้นเลย คราวนี้ลองดูอีกครั้ง ตั้งเป้าไว้ แค่สัปดาห์ละครั้ง เอาแค่นี้แหละ ไม่ต้องเยอะ แต่อย่าเบี้ยว ดูซิว่าจะรอดได้ซักกี่สัปดาห์ (นี่ไม่ได้ปรามาสหน้าตัวเองนะ แต่สงสัยจริงๆ)

ไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าไม่สำเร็จเราก็หาทางอื่นต่อไป แต่ถ้ามันพอจะใช้ได้ ก็คงได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่น้อยเหมือนกัน


ลองด้วยกันมั้ยครับ แค่สัปดาห์ละครั้ง