วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสม่ำเสมอ

ถ้าเราแค่อยากเขียนนิยายเพื่อระบายความคิดความรู้สึกในแต่ละขณะออกมา จะเขียนได้มากได้น้อย หรือจะจบไม่จบก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนนิยายให้จบ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด) เราคงต้องใส่ใจกับการหาเวลาลงมือเขียนให้ต่อเนื่อง มันถึงจะจบได้

คนที่มีโอกาสในการเขียนนิยายจบมากกว่า ไม่ใช่คนที่เขียนเร็วกว่า แต่เป็นคนที่เขียนอย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทีละนิดทุกๆ วัน ความสม่ำเสมอทำให้เราไม่หยุดก่อนที่จะถึงเป้าหมาย

คนเขียนนิยายเกือบทุกคนไม่ได้มีกิจกรรมแค่การเขียนนิยายอย่างเดียว แต่ยังต้องทำอย่างอื่นมากมายในแต่ละวัน บางคนทำงานประจำเช้าจรดเย็น บางคนทำงานพาร์ตไทม์ บางคนเรียนหนังสือ บางคนดูแลครอบครัว บางคนมีงานอดิเรกอย่างอื่น เช่น ทำสวน วาดรูป ร้องเพลง บ่อยครั้งที่คนอยากเขียนนิยายใช้เวลาทำนู่นทำนี่จนหมดวัน แล้วมาพบว่ามือไม่ได้จับปากกา นิ้วไม่ได้แตะแป้นพิมพ์ นิยายที่อยากจะเขียนก็ยังเป็นแค่กลุ่มควันของความคิด ยังไม่มีโอกาสกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือให้ชื่นใจเสียที

สภาพการณ์แบบนี้คนเขียนนิยายส่วนใหญ่ได้เจอกันมาแล้วทั้งนั้น ที่จริงมันเป็นปัญหาร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ทุกคน ในแวดวงธุรกิจเขาเรียกกันว่าปัญหาการบริหารเวลา

มีคนคิดค้นเทคนิคการบริหารเวลาไว้มากมาย ทุกเทคนิคมีประโยชน์และมีข้อดีข้อด้อยของตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเขียนนิยายอาจจะไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นเครื่องของความตั้งใจจริง เพราะไม่ว่าเทคนิคจะดีแค่ไหน ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง เราก็ละเลยไม่หยิบมันมาใช้อยู่ดี ในทางกลับกัน ถ้าเราเอาจริง ต่อให้ไม่รู้เทคนิคมากมาย เราก็บังคับตัวเองให้ "หาเวลา" ลงมือเขียนจนได้อยู่ดี

ไม่ว่าเราจะเลือกใช้เทคนิคการบริหารเวลาแบบไหนก็ตาม สำหรับคนเขียนนิยาย มีสิ่งที่น่าทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสม่ำเสมออยู่บางอย่างคือ

1. ความสม่ำเสมอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดที่ต่างกัน มีวิธีคิดวิธีการทำงานต่างกัน มีนิสัยในการใช้ชีวิตต่างกัน มีความถนัดในการเขียนต่างกัน ความสม่ำเสมอของคนหนึ่งอาจจะหมายถึงลงมือเขียนทุกวัน แม้จะมีเวลาเพียงแค่ยี่สิบนาทีก็เขียนได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอุ่นเครื่องนานกว่า และต้องการเวลามากกว่าสำหรับการลงมือเขียนแต่ละครั้ง

2. ความสม่ำเสมอไม่ได้แปลว่าต้องทำสิ่งเดียวกันทุกวัน เช่น ลงมือเขียนทุกวัน การทำงารสร้างสรรค์นิยายแต่ละเรื่องมีหลายขั้นตอน ก่อนนิ้วจะแตะแป้นพิมพ์ให้เป็นตัวอักษรบนหน้าจอ คน "เขียน" นิยายต้องทำงานอย่างอื่นเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิด การหาข้อมูล หรือการฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ของตัวเอง คนเขียนนิยายต้องทำความเข้าใจความถนัดของตัวเอง ว่าตัวเองถนัดทำงานแบบไหน บางคนอาจจะถนัดลงมือเขียนทุกวัน มากน้อยขอให้ได้เขียน แล้วมาตัดแต่งขัดเกลาเข้าหากันทีหลัง บางคนอาจจะถนัดเขียนเมื่อพร้อม เมื่อมีภาพเรื่องราวชัดเจนอยู่ในหัว สำหรับคนที่ถนัดแบบนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ลงมือเขียนทุกวัน แต่ถ้าได้ทำงานอะไรก็ตามที่เป็นการปูพื้นฐานให้กับการเขียน ก็ถือว่าเป็นความสม่ำเสมอด้วยเหมือนกัน

3. ความสม่ำเสมอไม่จำเป็นต้องแปลว่าทุกวันติดกันไม่มีวันหยุด มีหลายกรณีที่กิจกรรมอื่นในชีวิตอาจจะกินเวลาในบางวันหมดไปโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางวันในสัปดาห์ที่คนเขียนนิยายอาจจะกันไว้เป็นวันหยุดพักผ่อนเช่นเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ตราบใดที่เรารู้ว่าเราจัดสรรเวลาไว้สำหรับการทำงานเขียนเท่าไหร่ และเราพยายามจัดการตัวเองให้มีวินัย ทำได้ตามเวลานั้น ก็ถือว่าเราทำงานอย่างสม่ำเสมอได้

ถ้าเราทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของความสม่ำเสมอแล้ว เราก็จะเห็นว่าความสม่ำเสมอมีรูปแบบที่สามารถเป็นไปได้อยู่มากมายเหลือเกิน ไม่ได้ตายตัวเป็นอย่างเดียว

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการลงมือเขียนทุกวัน

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการทำงานเขียน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน สัปดาห์ละห้าวัน จันทร์ถึงศุกร์

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการคิดตลอดเวลาทุกวัน แต่ลงมือเขียนสัปดาห์ละสามวัน จันทร์พุธศุกร์

และอาจจะมีรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความต้องการ และข้อจำกัดของคนเขียนนิยายแต่ละคน

แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างที่พูดถึงไว้ข้างต้น คือการตั้งใจจริง เพราะมันง่ายเหลือเกินที่เราจะบอกตัวเองว่า วันนี้เหนื่อยเกินไป เอาไว้ก่อนแล้วกัน หรือ วันนี้ยังคิดไม่ออก ขอเวลาคิดอีกวัน (แต่ไม่ได้คิด) หรืออะไรอย่างอื่นอีกร้อยแปดพันเก้า

วันนี้ตอนกลางวัน คุณพีทตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนเรื่องความสม่ำเสมอ เพราะรู้ล่วงหน้าว่าตอนกลางคืนจะต้องไปงาน คงเขียนอะไรยาวมากที่ต้องใช้ความคิดเยอะๆ ไม่ไหว

เอาเข้าจริง กลับมาถึงบ้านห้าทุ่ม แม้แต่เรื่องความสม่ำเสมอก็รู้สึกว่าชักจะยาวเกินไป เพราะตามันจะปิดอยู่รอมร่อ (คืนวานนอนไม่ครบแปดชั่วโมง เฮ้อ) ใจหนึ่งบอกว่า งั้นเขียนเรื่องความสม่ำเสมอพรุ่งนี้ก็ได้ ไม่เห็นเป็นไร (ไม่มีใครรออ่าน ไม่ใช่คอลัมน์ประจำของนิตยสาร ไม่มีข้อผูกมัดอะไร)

แต่อีกใจหนึ่งก็รู้ว่า คุณพีทตั้งใจไว้แต่ต้น ว่าจะเขียนบันทึกเป็นประจำ เพื่ออุ่นเครื่องตัวเองให้พร้อมสำหรับการเขียนนิยาย ก็ต้องมาคิดว่า นี่เราเหนื่อยมากจริงๆ จนเขียนไม่ไหว หรือว่าเรารู้สึกขี้เกียจและหาข้ออ้างให้ตัวเองอู้

เดินไปเดินมาเตรียมตัวเข้านอน แล้วก็ตอบตัวเองได้ว่า ไม่ได้เหนื่อยอะไรมากมายขนาดนั้น งั้นวันนี้เราเขียนก่อน เพราะอาจจะมีบางวันที่เราเหนื่อยมากจนเขียนไม่ไหวจริงๆ เก็บโควต้าเอาไว้ลาวันนั้นแล้วกัน

จนถึงบรรทัดนี้ ยังไม่ได้ใช้เทคนิคการบริหารเวลาข้อไหนเลย และคิดไม่ออกด้วยว่าจะต้องใช้ข้อไหน แต่รู้ว่าต้องใช้ความเข้มงวดกับตัวเองนิดนึง

เพราะความสม่ำเสมอจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความตั้งใจจริง (จริงๆ นะเออ)

10 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้เจิมเป็นคนแรก อ่านแล้วรู้เลยว่าฮาขาดความสม่ำเสมอมากจริงๆ บริหารเวลาไม่ดีมั่กมาก - -

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ของเราจะฮึดเป็นพักๆ ดูซิพักนี้จะได้นานแค่ไหน ฮ่าๆๆ มาเริ่มต้นใหม่ด้วยกันแมะ

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:34

    พยายามทำอยู่ค่ะ
    แต่มักมีงานด่วนแทรกทุกที
    แต่ก็พยายามให้มันสม่ำเสมอให้ได้
    ต้องฝึกๆๆๆ ต้องมุ่งมั่นจริงๆ

    น้องคอป

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อารมณ์เดียวกันเลยครับ โดนงานอื่นเบียดบัง! ผมโดนมาเป็นปีแล้วเนี่ย ไม่ไหวและ ต้องขอเบียดกลับมั่ง นิดๆ ก็ยังดี อิๆ

      ลบ
  3. กรี๊ด เหมือนมครูถือไม้เรียวคอยขนาบ วันนี้กำลังหาข้ออ้สงจะอู้อยู่เชียวค่ะ เหมือนเอามีดมาแทงใจ 555 ต้องเก็บข้ออ้างไว้ลาวันอื่นแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ฮั่นแน่ ชอบไม้เรียวก็ไม่บอก เด๋วนะ เฮียไปเหลาก้านมะยมก่อน (เดินไปขอคนข้างล่าง)

      ลบ
  4. มีความสม่ำเสมอแต่สมองไม่เอาด้วย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สม่ำเสมอเข้าไว้ก็มีชัยไปครึ่งทางและ ที่เหลือถ้ามีปัญหาอื่นๆ เรามาช่วยกันขุด เอ๊ย ช่วยกันแก้ไปทีละเปลาะ โย่ว

      ลบ
  5. เป็นเหมือนพี่มะยมอ้ะ บางทีมีเวลา แต่นั่งจ้องจอเป็นครึ่งชั่วโมงก็เจอแต่จอเปล่า สมองเปล่าๆ T[]T

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เป็นเหมือนกันเลย อาการจอเปล่า หัวกลวงเนี่ย ฮ่าๆ เดี๋ยวนั่งคิดก่อนนะ คิดว่า... เย็นนี้จะกินอะไรดี จ๊าก

      ลบ