วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (3) เหตุการณ์

ยังเป็นตอนต่อของหัวข้อนี้นะครับ
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
บล็อกนี้เป็นหัวข้อย่อยที่ 3 ครับ สองหัวข้อแรกคือ (1) สถานที่และบรรยากาศ (2) ตัวละคร

ในความเห็นของคุณพีทซึ่งเล่าไว้ในบล็อกที่แล้ว การสร้างไอเดียจาก "เหตุการณ์" กับ "ตัวละคร" มีระดับความง่ายใกล้เคียงกันครับ บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากตัวละคร บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากเหตุการณ์ แต่สองอย่างนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก พอเริ่มคิดจากหัวข้อหนึ่ง มันก็มักจะพาเราไปคิดอีกหัวข้อตามไปด้วย

เพราะตัวละครเป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ หรือไม่ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางทีก็ทั้งสองอย่างเลยครับ (เรียกว่าสองเด้ง)

เวลาคิดไอเดียเหตุการณ์นี่ มันมีลักษณะของเหตุการณ์อยู่สองแบบนะครับ ไม่มีผิดไม่มีถูก มีประโยชน์ทั้งคู่ แต่ในลักษณะที่ต่างกัน

แบบแรกคือลักษณะที่เป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว มีการกระทำหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ซับซ้อน มักจะกินเวลาไม่นาน อาจจะมีคนที่เกียวข้องคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นพร้อมๆ กัน แต่อาจจะคนละแง่มุมกัน

ตัวอย่างเช่น
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน (คนเดียว ระยะเวลาสั้นมาก แค่ชั่วนาที)
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน ถลาไปซบอกสมชาย (ระยะเวลาเท่าเดิม แต่มีสองคนเกี่ยวข้อง)
  • สมศรีขับรถชนท้ายสมชาย (สองคน ระยะเวลายาวขึ้นมาหน่อย ประมาณสองสามนาที)
  • สมศรีหักรถหลบคนข้ามถนนไปชนรถสมชายที่สวนมา (สามคน)
  • สมศรีว่ายน้ำที่สระของโรงแรม (หนึ่งคน ระยะเวลาอาจจะเป็นชั่วโมง แต่กิจกรรมหลักๆ มีอย่างเดียว)
  • สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก (คนหลายร้อย ระยะเวลาหลายชั่วโมง สมศรีอาจจะทำอะไรหลายอย่าง เช่น กิน ดื่ม นั่ง ยืน เดิน แต่โดยรวมๆ คืออยู่ที่ห้องจัดงาน)
เป็นต้น

แบบที่สอง เราอาจจะนึกถึง "เหตุการณ์" ที่ฟังเผินๆ เหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่ที่จริงเป็นคำสรุปของเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างที่ประกอบกัน เช่น
  • สมปองลักพาตัวสมศรี (พูดเหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่จริงๆ มีหลายขั้นตอน อาจจะกินเวลาตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงเป็นวัน พูดเหมือนมีคนเกี่ยวข้องแค่สองคน แต่จริงๆ มีตัวประกอบคนอื่นๆ เข้ามาร่วมลงมือด้วย)
  • สมปองไต่เต้าตำแหน่งในบริษัทโดยการกำจัดคู่แข่งหลายคน (เป็นการสรุปเหตุการณ์ย่อยหลายเหตุการณ์ที่มีลักษณะเหมือนกัน คือกำจัดทีละคน และเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับ มีผลให้สมปองมีตำแหน่งที่สูงขึ้น)
  • สมชายสืบหาตัวคนขโมยเอกสารลับของท่านเจ้าคุณ (ประกอบด้วยเหตุการณ์ย่อยหลายอย่าง หลายขั้นตอน เกี่ยวข้องกับคนหลายคน และใช้เวลาหลายวันหรือเป็นเดือน)
 เหตุการณ์สองแบบนี้บางทีก็ไม่ได้แยกแยะกันเด็ดขาดนะครับ อาจจะมีช่วงรอยต่อที่แยกได้ยากว่ามันจะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สองกันแน่ ถ้าเราคิดไม่ออกว่าเป็นแบบไหน แสดงว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะมีส่วนประกอบย่อยๆ หลายส่วนหรือมีความซับซ้อน ก็ถือว่าเป็นแบบที่สองไปเลยแล้วกันนะครับ ไม่เสียเวลาดี

ตัวอย่างของเหตุการณ์แบบนี้ก็เช่น สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก ถ้าใจเราคิดแค่ว่า สมศรีเจ็บช้ำน้ำใจที่ต้องไปเห็นคนรักเก่ากำลังจะมีความสุขกับคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ อันนี้ก็ไม่ซับซ้อน สมศรีจะยืน เดิน นั่ง นอน (เอ๊ะ ไม่ดี) กิน หรือดื่ม ก็ไม่มีความแตกต่าง จุดสำคัญคือ สมศรีเจ็บปวดตลอดเวลางาน ก็เป็นแบบแรก เจ็บปวดลูกเดียว

แต่ถ้าในการไปงานแต่งงานนี้ เราคิดว่ามันจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสมศรีกับเจ้าบ่าว หรือกับเจ้าสาว อันนี้ก็อาจจะขยายขึ้นมาเป็นแบบที่สอง คือเริ่มมีส่วนประกอบหลายอย่างซับซ้อนขึ้น สมศรีจะแกล้งเจ้าสาวหรือเปล่า หรือสมศรีจะปีนขึ้นเวทีไปฉีกหน้าเจ้าบ่าว หรือสมศรีจะไปยุแยงใคร เป็นต้น

เวลาเราคิดหาเหตุการณ์หรือสร้างเหตุการณ์ เราไม่จำเป็นต้องสนใจหรอกครับ ว่าเหตุการณ์จะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สอง แบบไหนก็คิดไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือก มาคิดต่อ และมาปรับเปลี่ยนทีหลัง

ตอนที่เราเริ่มคิดต่อกับเหตุการณ์ที่ปิ๊งขึ้นมานี่แหละครับ ถ้าเรามองออกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นแบบหนึ่งเดียวหรือซับซ้อน จะทำให้เรามองเห็นช่องทางในการคิดต่อได้หลากหลายขึ้น และอาจจะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่รู้สึกว่า "ตัน" คิดอะไรไม่ออกอยู่เป็นนิจ

ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบแรก คือเป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว เวลาเราคิดสร้างไอเดียต่อ เราก็จะมีคำถามช่วยคิดที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ

     1.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร (โดยใคร เพราะใคร เพื่ออะไร ฯลฯ) คือมองอดีต

     2.  เหตุการณ์นั้นส่งผลอย่างไรต่อไป (และส่งผลกับใคร) คือมองอนาคต

แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์แบบหลังที่ซับซ้อน เราก็จะมีคำถามช่วยคิดเพิ่มขึ้นมาอีกข้อคือ

     3.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอย่างไรในรายละเอียด (และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง) คือมองกระบวนการ

เวลาเราสร้างไอเดียเหตุการณ์ บางทีเราอาจจะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นกับใครก็ได้นะครับ บางทีเรามีคิดต่อทีหลังว่า ถ้าเราอยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ แล้วมันควรจะเกิดขึ้นกับใครถึงจะรุนแรงที่สุด ถึงจะสนุกที่สุด ถึงจะลุ้นที่สุด

ตัวอย่างเช่น อยากเขียนให้มีการลักพาตัว คนที่ถูกลักพาตัวจะเป็นใครดีล่ะ จะเป็นลูกสาวเศรษฐี หรือจะเป็นดาราหนุ่มผู้เป็นที่หมายปองของสาวๆ หรือจะเป็นครูโรงเรียนประถมที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่ารวย หรือจะเป็นเมียน้อยของเสี่ยใหญ่

ถ้าเราอยากให้การลักพาตัวออกแนวรันทด คนที่ถูกลักพาตัวก็จะต้องได้รับผลกระทบมากหน่อย ถ้าเป็นคนรวยอาจจะดูสะเทือนใจไม่พอ เราอาจจะอยากให้เป็นคนจนที่ไม่มีเงินเรียกค่าไถ่ (แต่โจรก็ไม่ยอมเชื่อ) อาจจะเป็นครูประถมที่กำพร้าอยู่กับยายสองคน พอถูกลักพาตัวก็เดือดร้อนกันไปหมด

ถ้าเราอยากให้ออกแนวผจญภัย แอคชั่น แสดงการต่อสู้เอาตัวรอดของนางเอก ก็อาจจะต้องเลือกให้เป็นคนที่มีบุคลิกเด็ดเดี่ยว ไม่จำเป็นต้องบู๊เก่งมาก่อนก็ได้ อาจจะต้องต่อสู้ด้วยสัญชาตญาณ หรือสู้ด้วยสมองแทนที่จะเป็นร่างกาย

ถ้าอยากให้เป็นแนวฮา อาจจะลองลักพาตัวดาราหนุ่มเจ้าสำอางที่ไม่เคยพบความยากลำบาก และคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่นแบบรุนแรงของเพื่อนสนิทเพลย์บอย เป็นต้น

พอนึกถึงคนถูกลักพาตัวแล้ว ก็ต้องนึกถึงคนลักพาตัวควบคู่กันไป ว่าเขาคือใคร เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกลักพาตัวหรือเปล่า มีเหตุผลหรือความต้องการอย่างไรถึงมาลักพาตัว เขาลงมือเอง หรือมีลูกน้อง หรือมีการว่าจ้าง

บางทีเราไม่จำเป็นต้องเอาทุกเหตุำการณ์ที่นึกออกมานั่งคิดรายละเอียดจนทะลุปรุโปร่งก็ได้นะครับ ถ้าคิดออกก็คิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายังคิดไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องฝืน เพราะขั้นนี้คือการหาแนวทาง หาไอเดีย ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ตันตรงไหนก็ทิ้งไว้แค่นั้นก่อน หันไปมองไอเดียอื่นๆ เหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คิดไปแล้วเลยก็ยังได้ เอามาคิดต่อยอดแบบเดียวกัน คิดไ้ว้หลายไอเดียก็ไม่เสียหาย บางไอเดียอาจจะไปด้วยกันได้ บางไอเดียอาจจะขัดแย้งกันอย่างแรงจนอยู่ในเรื่องเดียวกันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ใช้ในเรื่องอื่นต่อไป แต่ขั้นนี้คิดอะไรได้ก็จดไว้ก่อน

ส่วนตัวคุณพีทเองไม่ได้ถนัดเรื่องการคิดเหตุการณ์เลยครับ คุณพีทแค่คิดไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ว่าถ้ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มันจะ (1) มีสาเหตุที่มาจากอะไร และ (2) มันจะทำให้เกิดอะไรต่อไป

ในแต่ละคำถาม คุณพีทก็ไม่ได้คิดหาคำตอบหลายแบบมากมาย ถ้าเจอคำตอบที่คิดว่าพอใช้ได้แล้ว คุณพีทก็คิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เลย   นักเขียนบางคนจะไม่ใช้วิธีนี้นะครับ แต่จะหาคำตอบหลายๆ คำตอบก่อน แล้วค่อยมาเลือก อันนี้แล้วแต่วิธีการทำงานและความถนัดของแต่ละคนนะ ของคุณพีทเป็นแบบคิดไม่ค่อยออก ถ้าคิดอะไรออกก็เก็บไว้ก่อน ฮ่าๆ

รายงานต่อจากบล็อกที่แล้วนะครับ พอคุณพีทเริ่มมีรายการตัวละครสองสามกลุ่ม (แต่ยังไม่มีชื่อนะ ยังคิดไม่ออก) คุณพีทก็มองหาเหตุการณ์ที่จะให้ตัวละครเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกันด้วยพร้อมๆ กัน

เช่น คุณพีทจะให้พระเอกอพยพย้ายบ้านมาอยู่ในเมืองที่เป็นสถานที่หลักของเรื่อง การอพยพย้ายบ้านนี่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งล่ะ เป็นแบบที่สองด้วย เพราะมันสามารถมีรายละเอียดข้างในได้อีก

และเนื่องจากจะเป็นนิยายแฟนตาซีผจญภัย ในระหว่างการย้ายบ้าน พระเอกก็น่าจะต้องเจอ "ภัย" บางอย่างซะเลย คนอ่านจะได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ คุณพีทก็มานั่งนึกว่า "ภัย" อะไรดีน่าจะเหมาะ เช่น เจอผี เจอสัตว์ป่า เจอโจรสลัด เจอกองทัพประเทศศัตรู หรือเจอหลายๆ อย่างเลยดี

พอเริ่มเลือก "ภัย" ก็มานั่งนึกว่า พระเอกเราต้องรอดนะ เพราะไม่งั้นเรื่องจะจบไว้ แต่จะให้รอดยังไง เอาแบบง่ายๆ พอสร้างบรรยากาศก่อน หรือจะเอาแบบหืดขึ้นคอไปเลย แต่เนื่องจากอยากให้พระเอกย้ายบ้านสำเร็จ ถ้าผจญภัยตอนนี้ยาวนานมาก มีหวัง 120 หน้ายังไม่ถึงเมืองแน่เลย ตรงนี้จะเลือกความโหดแค่ไหนดี

ตอนนี้คุณพีทพอมีไอเดียเรื่อง "ภัย" ในขั้นต้นแล้ว แต่เรื่องทั้งเรื่องยังต้องมีเหตุการณ์หรือ "ภัย" อื่นๆ อีก ก็กำลังค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ครับ บางทีพอคิดหา "ภัย" ได้อันหนึ่งแล้ว เราก็เอาไอเดีย "ภัย" นั้นมาดัดแปลงหรือมาหาไอเดีย "ภัย" อื่นต่ออีกก็ได้ด้วย เช่น
เจอสัตว์ป่าตัวเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายตัว

เจอสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง --> เจอสัตว์ป่าชนิดอื่น

เจอสัตว์ป่าชนิดเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายชนิด

เจอสัตว์ป่าทีเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายทีต่อเนื่องกัน
ตอนนี้คุณพีทกำลังนึกถึงอีกกรณีคือ เจอสัตว์ชนิดเดิม แต่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากเดิม และส่งผลต่อคนที่เกี่ยวข้องแตกต่างจากเดิมด้วยครับ

คุณพีทขอเวลานั่งคิดนอนคิดเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วบล็อกต่อไปเราจะมาคุยกันถึง "เรื่องราว" นะครับ ว่ามันต่างจาก "เหตุการณ์" ยังไง ทำไมคุณพีทถึงแยกเป็นอีกหัวข้อนึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น