วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่

ไอเดีย แปลง่ายๆ ว่าความคิด ในการทำงานแทบทุกอย่างเรามักจะใช้ไอเดียเสมอ ในการเขียนนิยาย เรายิ่งต้องใช้ไอเดียในแทบจะทุกขั้นตอนเลยนะครับ เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้น ยาวไปจนจรดนิ้วบนแป้นพิมพ์กลั่นความคิดมาเป็นตัวหนังสือเลยทีเดียว

ในบล็อกนี้ เราจะขีดเส้นคุยกันเฉพาะตอนเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ก่อนนะครับ เพราะตอนนี้คุณพีทยังอยู่ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาจากบล็อกแรก คือ
จะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องใหม่ ต้องคิดอะไรบ้างนะ?
เท้าความนิดนึงว่าคุณพีทกำลังจะเริ่มเขียนนิยายอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่ที่เว็บฟอร์ไรท์เตอร์ เลยต้องมานั่งคิดเตรียมตัวสำหรับการเขียน โดยเริ่มจาก

1. พิจารณากรอบหรือข้อกำหนดในการเขียนนิยายครั้งนี้แล้วสรุปว่า จะเปิดเรื่องใหม่ (ไม่เขียนต่อจากเรื่องชุดเดิมที่ค้างไว้) ความยาว 120 หน้า ระยะเวลาเขียนจริงไม่เกิน 40 วัน

2. นิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย และไม่เน้นความรัก

ขั้นต่อไปคือ

3. สร้างไอเดียว่าเรื่องที่เราจะเขียน มันจะเกี่ยวกับอะไร เป็นเรื่องของใครบ้าง โทนอารมณ์ของเรื่องเป็นแบบไหน แนวทางการดำเนินเรื่องจะเป็นยังไง

ซึ่งก็คือขั้นที่เราจะคุยกันในบล็อกนี้ครับ

มีเรื่องสำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงและทำความเข้าใจกันก่อน คนที่เขียนนิยายมาหลายๆ เรื่องจะรู้แล้ว แต่คนที่เพิ่งเริ่มเขียน หรือคนที่อ่านตำราเขียนนิยายแต่ยังไม่ได้ลองเขียน อาจจะไม่ทันนึกถึงหรือไม่ทันสังเกต

เวลาเราอ่านตำรา เขาเขียนเพื่อให้คนอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพตามได้ง่าย เลยมักจะอธิบายขั้นตอนการทำงานเป็นขั้นๆ อย่างชัดเจน เป็นระเบียบเรียบร้อย ว่าขั้นแรกต้องคิดเรื่องนี้นะ แล้วต้องมาเรื่องนี้ เช่น เรื่องพล็อต ตัวละคร การดำเนินเรื่อง มุมมอง ฯลฯ (ยังไม่ต้องสนใจว่าอันไหนคืออะไรนะครับ ยกตัวอย่างให้ดูเฉยๆ)

บางทีคนที่ไม่เคยเขียนหรือเพิ่งเริ่มเขียน อ่านแล้วอาจจะนึกไปว่า เราต้องคิดทีละหัวข้อ แล้วคิดให้เสร็จเป็นหัวข้อๆ ไป แล้วพอลองลงมือทำตาม คนส่วนใหญ่ก็มักจะติดขัด เพราะจะคิดให้ "เสร็จ" ทั้งหัวข้อนี่ มันเยอะนะ และทำให้รู้สึกว่ายาก

ในทางปฏิบัติ คนที่เขียนนิยายมาเยอะๆ จะรู้ไปเองว่า เวลาคิดเราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปทีละหัวข้อ แต่มันค่อยๆ คิดไปพร้อมๆ กันทุกหัวข้อนั่นแหละ แต่ทีละนิดละหน่อย จนกระทั่งมันค่อยๆ ประกอบรวมกันเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ตอนที่เราจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ในที่สุด

เพราะฉะนั้นในแต่ละหัวข้อนี่ เราอาจจะคิดไปแล้ว แต่ยังไม่ละเอียด ยังมัวๆ อยู่ แต่พอเราคิดเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน มันก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ิคิดไปแล้ว ย้อนกลับไปกลับมาหลายตลบ จนได้เรื่องราวที่ถูกใจที่สุดออกมา

ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับการปั้นดินน้ำมันนะครับ สมมุติเราจะปั้นรูปช้าง เราอาจจะเลือกปั้นตรงไหนก่อนก็ได้ อาจจะหัว หรือหู หรืองวง หรืองา หรือขา หรือพุง หรือบางคนอาจจะคลึงดินน้ำมันเป็นเส้นยาวๆ แล้วทำหางก่อนเป็นอันดับแรกก็ยังได้!

พอเราปั้นชิ้นแรกแล้ว อาจจะเป็นหัว แต่พอเราปั้นงา เอามาลองติดดู แล้วมันเล็กไปหรือใหญ่ไป ดูแล้วเหมือนช้างพิการ เราก็ต้องแก้ใหม่ อาจจะเอาดินน้ำมันมาแปะหัวให้ใหญ่ขึ้น หรือเด็ดดินน้ำมันออกจากงาให้มันสั้นลง

หรือพอเราปั้นขาแล้ว เอามาต่อกับตัว ดูไปดูมาคล้ายขาหมู (พะโล้) มากกว่าขาช้าง จะแค่แปะเพิ่มหรือเด็ดออกคงไม่พอ อาจต้องรื้อขา (ดูตัวอย่างจากหนังสือการ์ตูน?) แล้วปั้นใหม่กันเลยทีเดียว ไม่งั้นเดี๋ยวช้างของเราจะกลายเป็นช้างพะโล้รมควัน

การเขียนนิยายก็คล้ายๆ กันนะครับ สมมุติเราเริ่มจากตัวละคร คิดไปคิดมา จะให้คนนี้เป็นแบบนี้ คนนั้นเป็นแบบนั้น ดูน่าจะถูกใจดีแล้วนะ แต่นิยายไม่ใช่แค่ข้อมูลรายละเอียดตัวละคร มันต้องมีการกระทำ มีเรื่องราว พอเรามาคิดเรื่องราวและการกระทำของตัวละคร ไอ้ที่เคยคิดเอาไว้อาจจะไม่เหมาะเสียแล้ว ต้องเปลี่ยนอาชีพพระเอกใหม่ ต้องเปลี่ยนบุคลิกผู้ร้ายใหม่ เพื่อให้เรื่องราวมันเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

นี่เป็นสิ่งแรกที่ควรสังเกตและทำความเข้าใจ ในการคิดเพื่อเขียนนิยายครับ โดยสรุปก็คือ ในทางปฏิบัิติแล้ว เราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปเลยทีละหัวข้อ ก่อนที่จะขึ้นหัวข้อใหม่ (ตามที่ตำราเขียนบอก) เพราะทุกหัวข้อมันเกี่ยวข้องกันไปหมด (เหมือนหัวช้างกับงาช้าง หรือเหมือนบุคลิกตัวละคร กับการกระทำของตัวละคร) แต่เรามักจะค่อยๆ คิดทุกหัวข้อไปด้วยกัน ทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งแต่ละส่วนค่อยๆ ชัดเจนขึ้น และมาประกอบกันเป็นภาพรวมในที่สุด

เพราะฉะนั้นในขั้นที่ 3 หรือการสร้างไอเดียนี้ จึงเหมือนกับการวาดรูปไว้ในใจ (หรือในสมุด) โดยคร่าวๆ ว่าเรื่องราวของเราจะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง จะมีใครมาเกี่ยวข้องบ้าง เหตุการณ์มันจะเป็นทำนองไหนบ้าง โดยที่รายละเอียดแต่ละส่วนจะยังไม่ชัดเจนเลย แต่ดูรวมๆ แล้วพอเห็นโครงคร่าวๆ ว่า นี่คือช้างนะ เอ๊ย นี่คือนิยายเรื่องนี้นะ

การ "หา" ไอเดียเพื่อมาสร้างภาพคร่าวๆ ในขั้นนี้ ก็ใช้เทคนิคไม่ต่างจาการ "หา" ไอเดียในขั้นอื่นๆ หรือในการทำงานทั่วๆ ไปนะครับ อาจจะหาจากสิ่งรอบตัว จากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ แต่ในบล็อกนี้เราจะยังไม่คุยเรื่องนี้ก่อนนะ เราจะข้ามไปก่อน แล้วมาดูเรื่องการ "คิด" หรือ "สร้าง" ไอเดียกันเลย ว่าเมื่อเราหาไอเดีย/แรงบันดาลใจจากแหล่งต่างๆ แล้ว ตอนเอามาสร้างเป็นนิยายเรื่องใหม่นี่ มันคิดจากตรงไหนได้บ้าง

มีแนวทางง่ายๆ ที่ใช้ช่วยเริ่มต้นสร้างไอเดียสำหรับนิยายเรื่องใหม่ 4 แนวทางครับ จะเลือกใช้แค่แนวทางเดียว หรือใช้หลายแนวทางประกอบกันก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน  คุณพีทจะเล่าโดยเรียงจากแนวทางที่คิดว่าเห็นภาพได้ง่าย เป็นรูปธรรมที่สุด ไปหาแนวทางที่ใช้ัจินตนาการมากขึ้นนะครับ

สำหรับบล็อกนี้ คุณพีทจะพูดถึงสี่หัวข้อนี้คร่าวๆ ให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วบล็อกต่อๆ ไป จะหยิบแต่ละหัวข้อมาเจาะในรายละเอียด พร้อมทั้งบันทึกว่าคุณพีทได้ใช้แนวทางในหัวข้อนั้นกับการคิดนิยายเรื่องนี้ยังไงบ้างนะครับ

3.1 สถานที่และบรรยากาศของเรื่อง เป็นจุดที่คิดได้ง่าย เห็นภาพได้ง่ายที่สุด และเป็นจุดเด่นของนิยายหลายเรื่อง (และหลายแนว) ที่นิยมกันมากก็เช่นนิยายแนวทะเลทราย บางคนอยากให้มีปิระมิด บางคนนึกถึงแม่น้ำไนล์ บางคนชอบบรรยากาศกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อน (เบดูอิน) หรือการขี่อูฐกลางแสงจันทร์ ถ้าไ่ม่ใช่แนวทะเลทราย บางคนอยากเขียนบรรยากาศของรีสอร์ตบ้านไร่ บางคนอยากเขียนแนวชายหาด ชายทะเล หรือเกาะ บางคนถนัดแนวป่า บางคนอาจจะชอบแนวโลกแฟนตาซี มีป่าลึกลับ มีปราสาท เป็นต้น

3.2 ตัวละคร ไม่ว่าเร็วหรือช้า ก็หนีตัวละครไปไม่พ้นนะครับ เพราะตัวละครเป็นผู้เล่น เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ถ้าไม่มีตัวละคร ก็ไม่มีนิยาย บางคนอยากเขียนนางเอกที่แก่นแก้วแสนซน หรือนางเอกที่เก็บกดแข็งนอกอ่อนใน บางคนอยากเขียนพระเอกที่ร้ายสุดๆ แต่สยบให้นางเอกคนเดียว บางคนอาจจะอยากเขียนตัวละครที่สดใสร่าเริงภายนอก แต่ลึกๆ แล้วอ่อนไหวและอ่อนแอ เป็นตัว

3.3 เหตุการณ์ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งของเรื่อง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร (มักจะเป็นตัวละครหลัก เพราะในขั้นนี้เรายังคิดคร่าวๆ ตัวละครประกอบยังไม่ค่อยโผล่) เช่น รถชน แต่งงาน ทะเลาะกัน โดนโกง สะดุดเท้าหกล้มหัวทิ่ม ตกหลุมรัก เสียพนัน เล่นกีฬา เหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนมันจะเล็กๆ แต่มันก็เป็นไอเดียเริ่มต้นให้มีเรื่องราวติดตามมาเป็นขบวนยาวเหยียดได้เหมือนกัน

3.4 เรื่องราว หมายถึงการที่เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนเกิดเป็นเรื่องราวที่มีความหมายหรือสร้างความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา เช่น (ตัวอย่างมาตรฐาน) นางเอกเป็นหญิงสาวผู้ต่ำต้อย (ในด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะเป็นฐานะ การศึกษา การงาน) ถูกกดขี่ข่มเหงจากคนรอบข้าง (แม่เลี้ยง เจ้านาย) จนกระทั่งได้พบและตกหลุมรักพระเอกซึ่งเป็นชายสูงศักดิ์ (การเงิน การงาน ฐานะทางสังคม) และต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ฯลฯ จนความรักสมหวังในที่สุด เป็นต้น

(ไอเดียของเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะเรียกว่าพล็อต แต่คุณพีทขอเรียกว่า "เรื่องราว" ก่อนนะครับ เพราะคำว่า "พล็อต" นี้เป็นคำเจ้าปัญหา ตำราภาษาไหนๆ ก็แปลเหมือนกันมั่งต่างกันมั่ง นักเขียนแต่ละคนก็มีนิยามคำนี้ต่างๆ กันไป ซึ่งมีประโยชน์ทุกแบบ แต่ในขั้นนี้เรายังไม่ต้องสนใจก็ได้ ว่ามันจะเรียกว่าพล็อตหรือเปล่า ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องเป็นราวก็พอแล้ว)

และในหัวข้อเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะคิดถึง "ชื่อเรื่อง" ของนิยายด้วยเลยก็ได้ เพราะชื่อเรื่องโดยส่วนใหญ่ มักจะสะท้อนหัวใจของเรื่องราวในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ระหว่างที่เราเลือกหาชื่อเรื่องที่ถูกใจ เราก็กำลังคิดและขัดเกลาเรื่องราวในใจไปด้วยพร้อมๆ กันครับ

รายงานในขั้นต้นว่า ขณะนี้คุณพีทกำลังค่อยๆ คิดในขั้นนี้อยู่ เนื่องจากคุณพีทมักจะผูกพันกับตัวละครมากที่สุด ก็เลยเริ่มจากตัวละครก่อน แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงสถานที่กับเหตุการณ์ไปทีละนิด (เนื่องจากเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย ก็เลยต้องให้ความสำคัญกับสถานที่หน่อย) ส่วนตรงเรื่องราวโดยรวม ยังไม่ค่อยได้นึกถึงเท่าไหร่

บล็อกต่อๆ ไปเราจะมาคุยเจาะกันทีละหัวข้อนะครับ

6 ความคิดเห็น:

  1. พอมาอ่านแล้วก็นึกถึงนิยายตัวเอง ส่วนใหญ่เหมือนจะเกิดมาจากตัวละคร+เรื่องราว(เหตุการณ์) แต่ไม่ค่อยคิดโครงใหญ่รอ แบบว่าเขียนตามน้ำโดยให้บุคลิกตัวละครพาไปเรื่อยๆ พอเริ่มสะดุดค่อยหยุดคิดว่าจะพาต่อไปทางไหนได้บ้าง บางช่วงที่มีเวลาแต่เขียนไม่ออกเลยเป็นเพราะยังงี้ เพราะดันคิดแนวทางเรื่องได้ใหม่ที่ทำให้อยากกลับไปรื้อของเดิมทิ้ง ประหนึ่งตอนแรกกะปั้นช้าง แต่ปั้นได้ครึ่งตัวเกิดอยากปั้นกระต่ายต่อซะงั้น อร้ายยยย

    ว่าแต่แรลลี่นี่ริ่มเมื่อไหร่น้อ เค้าอยากอ่านเรื่องใหม่ของพีทคุงแล้วล่ะ ^^

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เปลี่ยนช้างเป็นม้านี่ยังพอใกล้เคียง คุณรินจะเปลี่ยนเป็นกระต่ายเลยเร้อ โอ้...

      (เอ๊ะ กระต่ายป่าหรือกระต่าย "ฟาร์ม" กันนะ???)

      นักเขียนที่เขียนเรื่องโดยไม่วางโครงรวมไว้ก่อนก็มีไม่น้อยเหมือนกันครับ นักเขียนภาษาอังกฤษจำนวนหนึ่งถึงกับแอนตี้การวางพล็อตไว้ก่อนเลยเชียวแหละ ผมว่าแล้วแต่ความถนัดและสไตล์การทำงานของแต่ละคน มันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันคือ คนที่วางโครงเรื่องหลักไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าเขาไม่ต้องรื้อ (จากช้างเป็นกระต่าย!) แต่เขาจะรู้ (ว่าต้องรื้อ) และจะลงมือรื้อ ในขั้นตอนของการวางโครง ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มเขียนจริง แต่คนที่เขียนโดยไม่ได้วางโครงไว้ก่อน เรารู้เรื่องราวของเราเมื่อมันเกิดขึ้น (เมื่อลงมือเขียนไปแล้ว) ถ้ามีการต้องรื้อจริงๆ มันก็ต้องรื้อตอนที่เขียนไปแล้ว

      แต่ไม่ใช่ว่าคนที่วางโครงไว้ก่อนจะหมดโอกาสรื้อตอนเขียนแล้วนะ บางทีเขียนๆ ไปแล้วก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่ มันไม่ถูกใจ มันเปลี่ยนใจ มันไม่นู่นไม่นี้ ยังรื้อช้างเป็นกระต่ายได้อยู่ครับ ฮ่าๆๆ

      เพราะงานเขียนเป็นงานสร้างสรรค์มั้งครับ การปรับเปลี่ยนเลยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเราดูประวัติภาพเขียนของศิลปินโลก บางทีกว่าจะคลอดออกมาเป็นภาพสุดท้าย มีเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่ทำแล้วเปลี่ยน ทำแล้วทิ้ง บางทีเป็นสิบเป็นร้อยเหมือนกันนะ (นึกไม่ออกเลยว่าถ้าต้องแก้นิยายใหม่เป็นร้อยรอบ ที่เป็นการรื้อเรื่องไม่ใช่แค่ขัดเกลา จะสนุกขนาดไหน โอ้)

      แรลลี่เริ่มกันยาครับ แต่คุณพีทกะว่าคงเริ่มเขียนได้เดือนตุลา อย่าเพิ่งอยากอ่านดิ อาการล่มของปราการหัวใจยังทำให้หวาดหวั่นอยู่เยยยยย

      ลบ
    2. อั๊ยย่า พูดแล้วเลยนึกได้ อัศวินอาชาจะกลับมาเมื่อไหร่น้อ เรื่องต่อของภูตฯ ก็รออยู่น้า สรุปรออ่านทุกเรื่องละค้าบบบ ^^

      ลบ
    3. จ๊าก ตกใจ หนีไปซ่อนในตุ่มดีกว่า ^^"

      อัศวินกับอาชา ท่าจะนานครับ ต้องขุดขึ้นมาคิดใหม่ ว่าจะเอายังไงดี คนอ่านบอกว่าเดินเรื่องอืดมาก สงสัยต้องรื้อเขียนใหม่ ฮ่าๆ ส่วนชุดภูตฯ อยากจะเขียนต่อภายในปีสองปีนี้ครับ แต่ขอเวลาให้อยู่ที่เดียวนิ่งๆ ก่อน เพราะต้องรื้อฟื้นนานนนนนน หกภารกิจที่จบไปนี่ ประมาณ 700 หน้า จำรายละเอียดไม่ค่อยได้แหล่ว

      ลบ
  2. ช้างพะโล้ เห็นภาพเลยค่ะ คุณพีท

    แครอทสีส้ม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. นึกแล้วก็หิวขึ้นมาเลยนะครับคุณแค จ๊าก

      ลบ