วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โจทย์ฝึกเขียน - สื่อความรู้สึกด้วยการแสดงออก

นิยายคือเรื่องราว เหตุการณ์ ความเป็นไปของตัวละคร แต่ถ้ามีแค่เหตุการณ์โดยไม่มีความรู้สึก ก็คงคล้ายกับการอ่านประวัติศาสตร์ ปี พ.ศ. นั้นนี้ มีคนชื่อนี้ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้ผลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อ่านแล้วเข้าใจมั้ย? ก็เข้าใจนะ แต่สนุกมั้ย อันนี้ขอคิดอีกที

นิยายจะสนุกได้ก็มีความรู้สึก ตัวละครเจอสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ แล้วยังไง? เขาหรือเธอรู้สึกยังไงบ้าง มีความสุขมั้ย ทุกข์มั้ย ดีใจ เสียใจ กลัว ผิดหวัง สมหวัง มีความหวัง คนอ่านจะได้ร่วมรับรู้ไปกับตัวละครครับ

ในงานเขียนรูปแบบนิยาย การบอกเล่าความรู้สึกของตัวละครให้คนอ่านรู้ก็มีหลายวิธีครับ วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ บอกออกมาตรงๆ นี่แหละ (แบบนี้ภาษาการเขียนเรียกว่า tell) เช่น

เขารู้สึกกลัว  
เขาลังเล ไม่แน่ใจว่าควรจะเดินต่อไปหรือไม่ 
เขาสงสารเธอเหลือเกิน

แต่ก็มีวิธีที่บอกให้คนอ่านรู้ได้อีกหลายวิธีโดยที่ไม่เขียนคำแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมาตรงๆ ก็คือบอกให้คนอ่านรู้ผ่านการแสดงออกของตัวละคร (แบบนี้ภาษาการเขียนเรียกว่า show ครับ)

การแสดงออกบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวละครไม่ได้ตั้งใจ เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เช่น

เขาใจเต้นแรง มือสั่น เหงื่อชื้นไปหมด

การแสดงออกบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่ตัวละครตั้งใจทำ เช่น

เขาเม้มริมฝีปากแน่น ตบโต๊ะปังใหญ่ หันหลังขวับ ย่ำโครมๆ ออกจากห้องไป

ตำราหลายเล่มแนะนำว่าให้ Show. Don’t tell. เพราะการแสดงออกทำให้คนอ่านได้ร่วมมีประสบการณ์ไปกับตัวละครด้วย (เหมือนนั่งอยู่ด้วยกัน?) แต่ที่จริงสองวิธีนี้มีประโยชน์ทั้งคู่นะครับ และเหมาะกับสถานการณ์ที่ต่างกัน เพียงแต่ว่าการ show (แสดง) ให้คนอ่านเห็นเองนี่ บางทีคนเริ่มเขียนใหม่ๆ อาจจะรู้สึกติดขัด ไม่รู้จะแสดงออกมายังไง พอนึกไม่ออกก็หันไป tell (บอกออกไปโต้งๆ) ตำราเลยเน้นจุดนี้กันมาก

คุณพีทก็มีปัญหาเดียวกันครับ รู้ล่ะว่าอยากจะโชว์ แต่จะโชว์ยังไงล่ะ!

สัปดาห์นี้เลยตั้งโจทย์ให้ตัวเองฝึก ลองดูซิว่า เราจะสื่อความรู้สึกของตัวละครด้วยการแสดงออกของเขายังไง โดยไม่ต้องบอกความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด

โจทย์ฝึกเขียน สื่อความรู้สึกด้วยการแสดงออก
เขียนบรรยายความรู้สึกของตัวละครหนึ่งคน โดยไม่บอกตรงๆ ว่าตัวละครนั้นรู้สึกอะไร แต่ให้ตัวละครแสดงออกมาให้คนอ่านรับรู้ (ความยาว 5 – 15 บรรทัด)

ใครสนใจมาร่วมฝึกเขียนด้วยกันนะครับ