วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (3) เหตุการณ์

ยังเป็นตอนต่อของหัวข้อนี้นะครับ
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
บล็อกนี้เป็นหัวข้อย่อยที่ 3 ครับ สองหัวข้อแรกคือ (1) สถานที่และบรรยากาศ (2) ตัวละคร

ในความเห็นของคุณพีทซึ่งเล่าไว้ในบล็อกที่แล้ว การสร้างไอเดียจาก "เหตุการณ์" กับ "ตัวละคร" มีระดับความง่ายใกล้เคียงกันครับ บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากตัวละคร บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากเหตุการณ์ แต่สองอย่างนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก พอเริ่มคิดจากหัวข้อหนึ่ง มันก็มักจะพาเราไปคิดอีกหัวข้อตามไปด้วย

เพราะตัวละครเป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ หรือไม่ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางทีก็ทั้งสองอย่างเลยครับ (เรียกว่าสองเด้ง)

เวลาคิดไอเดียเหตุการณ์นี่ มันมีลักษณะของเหตุการณ์อยู่สองแบบนะครับ ไม่มีผิดไม่มีถูก มีประโยชน์ทั้งคู่ แต่ในลักษณะที่ต่างกัน

แบบแรกคือลักษณะที่เป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว มีการกระทำหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ซับซ้อน มักจะกินเวลาไม่นาน อาจจะมีคนที่เกียวข้องคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นพร้อมๆ กัน แต่อาจจะคนละแง่มุมกัน

ตัวอย่างเช่น
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน (คนเดียว ระยะเวลาสั้นมาก แค่ชั่วนาที)
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน ถลาไปซบอกสมชาย (ระยะเวลาเท่าเดิม แต่มีสองคนเกี่ยวข้อง)
  • สมศรีขับรถชนท้ายสมชาย (สองคน ระยะเวลายาวขึ้นมาหน่อย ประมาณสองสามนาที)
  • สมศรีหักรถหลบคนข้ามถนนไปชนรถสมชายที่สวนมา (สามคน)
  • สมศรีว่ายน้ำที่สระของโรงแรม (หนึ่งคน ระยะเวลาอาจจะเป็นชั่วโมง แต่กิจกรรมหลักๆ มีอย่างเดียว)
  • สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก (คนหลายร้อย ระยะเวลาหลายชั่วโมง สมศรีอาจจะทำอะไรหลายอย่าง เช่น กิน ดื่ม นั่ง ยืน เดิน แต่โดยรวมๆ คืออยู่ที่ห้องจัดงาน)
เป็นต้น

แบบที่สอง เราอาจจะนึกถึง "เหตุการณ์" ที่ฟังเผินๆ เหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่ที่จริงเป็นคำสรุปของเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างที่ประกอบกัน เช่น
  • สมปองลักพาตัวสมศรี (พูดเหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่จริงๆ มีหลายขั้นตอน อาจจะกินเวลาตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงเป็นวัน พูดเหมือนมีคนเกี่ยวข้องแค่สองคน แต่จริงๆ มีตัวประกอบคนอื่นๆ เข้ามาร่วมลงมือด้วย)
  • สมปองไต่เต้าตำแหน่งในบริษัทโดยการกำจัดคู่แข่งหลายคน (เป็นการสรุปเหตุการณ์ย่อยหลายเหตุการณ์ที่มีลักษณะเหมือนกัน คือกำจัดทีละคน และเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับ มีผลให้สมปองมีตำแหน่งที่สูงขึ้น)
  • สมชายสืบหาตัวคนขโมยเอกสารลับของท่านเจ้าคุณ (ประกอบด้วยเหตุการณ์ย่อยหลายอย่าง หลายขั้นตอน เกี่ยวข้องกับคนหลายคน และใช้เวลาหลายวันหรือเป็นเดือน)
 เหตุการณ์สองแบบนี้บางทีก็ไม่ได้แยกแยะกันเด็ดขาดนะครับ อาจจะมีช่วงรอยต่อที่แยกได้ยากว่ามันจะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สองกันแน่ ถ้าเราคิดไม่ออกว่าเป็นแบบไหน แสดงว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะมีส่วนประกอบย่อยๆ หลายส่วนหรือมีความซับซ้อน ก็ถือว่าเป็นแบบที่สองไปเลยแล้วกันนะครับ ไม่เสียเวลาดี

ตัวอย่างของเหตุการณ์แบบนี้ก็เช่น สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก ถ้าใจเราคิดแค่ว่า สมศรีเจ็บช้ำน้ำใจที่ต้องไปเห็นคนรักเก่ากำลังจะมีความสุขกับคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ อันนี้ก็ไม่ซับซ้อน สมศรีจะยืน เดิน นั่ง นอน (เอ๊ะ ไม่ดี) กิน หรือดื่ม ก็ไม่มีความแตกต่าง จุดสำคัญคือ สมศรีเจ็บปวดตลอดเวลางาน ก็เป็นแบบแรก เจ็บปวดลูกเดียว

แต่ถ้าในการไปงานแต่งงานนี้ เราคิดว่ามันจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสมศรีกับเจ้าบ่าว หรือกับเจ้าสาว อันนี้ก็อาจจะขยายขึ้นมาเป็นแบบที่สอง คือเริ่มมีส่วนประกอบหลายอย่างซับซ้อนขึ้น สมศรีจะแกล้งเจ้าสาวหรือเปล่า หรือสมศรีจะปีนขึ้นเวทีไปฉีกหน้าเจ้าบ่าว หรือสมศรีจะไปยุแยงใคร เป็นต้น

เวลาเราคิดหาเหตุการณ์หรือสร้างเหตุการณ์ เราไม่จำเป็นต้องสนใจหรอกครับ ว่าเหตุการณ์จะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สอง แบบไหนก็คิดไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือก มาคิดต่อ และมาปรับเปลี่ยนทีหลัง

ตอนที่เราเริ่มคิดต่อกับเหตุการณ์ที่ปิ๊งขึ้นมานี่แหละครับ ถ้าเรามองออกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นแบบหนึ่งเดียวหรือซับซ้อน จะทำให้เรามองเห็นช่องทางในการคิดต่อได้หลากหลายขึ้น และอาจจะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่รู้สึกว่า "ตัน" คิดอะไรไม่ออกอยู่เป็นนิจ

ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบแรก คือเป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว เวลาเราคิดสร้างไอเดียต่อ เราก็จะมีคำถามช่วยคิดที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ

     1.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร (โดยใคร เพราะใคร เพื่ออะไร ฯลฯ) คือมองอดีต

     2.  เหตุการณ์นั้นส่งผลอย่างไรต่อไป (และส่งผลกับใคร) คือมองอนาคต

แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์แบบหลังที่ซับซ้อน เราก็จะมีคำถามช่วยคิดเพิ่มขึ้นมาอีกข้อคือ

     3.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอย่างไรในรายละเอียด (และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง) คือมองกระบวนการ

เวลาเราสร้างไอเดียเหตุการณ์ บางทีเราอาจจะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นกับใครก็ได้นะครับ บางทีเรามีคิดต่อทีหลังว่า ถ้าเราอยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ แล้วมันควรจะเกิดขึ้นกับใครถึงจะรุนแรงที่สุด ถึงจะสนุกที่สุด ถึงจะลุ้นที่สุด

ตัวอย่างเช่น อยากเขียนให้มีการลักพาตัว คนที่ถูกลักพาตัวจะเป็นใครดีล่ะ จะเป็นลูกสาวเศรษฐี หรือจะเป็นดาราหนุ่มผู้เป็นที่หมายปองของสาวๆ หรือจะเป็นครูโรงเรียนประถมที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่ารวย หรือจะเป็นเมียน้อยของเสี่ยใหญ่

ถ้าเราอยากให้การลักพาตัวออกแนวรันทด คนที่ถูกลักพาตัวก็จะต้องได้รับผลกระทบมากหน่อย ถ้าเป็นคนรวยอาจจะดูสะเทือนใจไม่พอ เราอาจจะอยากให้เป็นคนจนที่ไม่มีเงินเรียกค่าไถ่ (แต่โจรก็ไม่ยอมเชื่อ) อาจจะเป็นครูประถมที่กำพร้าอยู่กับยายสองคน พอถูกลักพาตัวก็เดือดร้อนกันไปหมด

ถ้าเราอยากให้ออกแนวผจญภัย แอคชั่น แสดงการต่อสู้เอาตัวรอดของนางเอก ก็อาจจะต้องเลือกให้เป็นคนที่มีบุคลิกเด็ดเดี่ยว ไม่จำเป็นต้องบู๊เก่งมาก่อนก็ได้ อาจจะต้องต่อสู้ด้วยสัญชาตญาณ หรือสู้ด้วยสมองแทนที่จะเป็นร่างกาย

ถ้าอยากให้เป็นแนวฮา อาจจะลองลักพาตัวดาราหนุ่มเจ้าสำอางที่ไม่เคยพบความยากลำบาก และคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่นแบบรุนแรงของเพื่อนสนิทเพลย์บอย เป็นต้น

พอนึกถึงคนถูกลักพาตัวแล้ว ก็ต้องนึกถึงคนลักพาตัวควบคู่กันไป ว่าเขาคือใคร เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกลักพาตัวหรือเปล่า มีเหตุผลหรือความต้องการอย่างไรถึงมาลักพาตัว เขาลงมือเอง หรือมีลูกน้อง หรือมีการว่าจ้าง

บางทีเราไม่จำเป็นต้องเอาทุกเหตุำการณ์ที่นึกออกมานั่งคิดรายละเอียดจนทะลุปรุโปร่งก็ได้นะครับ ถ้าคิดออกก็คิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายังคิดไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องฝืน เพราะขั้นนี้คือการหาแนวทาง หาไอเดีย ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ตันตรงไหนก็ทิ้งไว้แค่นั้นก่อน หันไปมองไอเดียอื่นๆ เหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คิดไปแล้วเลยก็ยังได้ เอามาคิดต่อยอดแบบเดียวกัน คิดไ้ว้หลายไอเดียก็ไม่เสียหาย บางไอเดียอาจจะไปด้วยกันได้ บางไอเดียอาจจะขัดแย้งกันอย่างแรงจนอยู่ในเรื่องเดียวกันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ใช้ในเรื่องอื่นต่อไป แต่ขั้นนี้คิดอะไรได้ก็จดไว้ก่อน

ส่วนตัวคุณพีทเองไม่ได้ถนัดเรื่องการคิดเหตุการณ์เลยครับ คุณพีทแค่คิดไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ว่าถ้ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มันจะ (1) มีสาเหตุที่มาจากอะไร และ (2) มันจะทำให้เกิดอะไรต่อไป

ในแต่ละคำถาม คุณพีทก็ไม่ได้คิดหาคำตอบหลายแบบมากมาย ถ้าเจอคำตอบที่คิดว่าพอใช้ได้แล้ว คุณพีทก็คิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เลย   นักเขียนบางคนจะไม่ใช้วิธีนี้นะครับ แต่จะหาคำตอบหลายๆ คำตอบก่อน แล้วค่อยมาเลือก อันนี้แล้วแต่วิธีการทำงานและความถนัดของแต่ละคนนะ ของคุณพีทเป็นแบบคิดไม่ค่อยออก ถ้าคิดอะไรออกก็เก็บไว้ก่อน ฮ่าๆ

รายงานต่อจากบล็อกที่แล้วนะครับ พอคุณพีทเริ่มมีรายการตัวละครสองสามกลุ่ม (แต่ยังไม่มีชื่อนะ ยังคิดไม่ออก) คุณพีทก็มองหาเหตุการณ์ที่จะให้ตัวละครเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกันด้วยพร้อมๆ กัน

เช่น คุณพีทจะให้พระเอกอพยพย้ายบ้านมาอยู่ในเมืองที่เป็นสถานที่หลักของเรื่อง การอพยพย้ายบ้านนี่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งล่ะ เป็นแบบที่สองด้วย เพราะมันสามารถมีรายละเอียดข้างในได้อีก

และเนื่องจากจะเป็นนิยายแฟนตาซีผจญภัย ในระหว่างการย้ายบ้าน พระเอกก็น่าจะต้องเจอ "ภัย" บางอย่างซะเลย คนอ่านจะได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ คุณพีทก็มานั่งนึกว่า "ภัย" อะไรดีน่าจะเหมาะ เช่น เจอผี เจอสัตว์ป่า เจอโจรสลัด เจอกองทัพประเทศศัตรู หรือเจอหลายๆ อย่างเลยดี

พอเริ่มเลือก "ภัย" ก็มานั่งนึกว่า พระเอกเราต้องรอดนะ เพราะไม่งั้นเรื่องจะจบไว้ แต่จะให้รอดยังไง เอาแบบง่ายๆ พอสร้างบรรยากาศก่อน หรือจะเอาแบบหืดขึ้นคอไปเลย แต่เนื่องจากอยากให้พระเอกย้ายบ้านสำเร็จ ถ้าผจญภัยตอนนี้ยาวนานมาก มีหวัง 120 หน้ายังไม่ถึงเมืองแน่เลย ตรงนี้จะเลือกความโหดแค่ไหนดี

ตอนนี้คุณพีทพอมีไอเดียเรื่อง "ภัย" ในขั้นต้นแล้ว แต่เรื่องทั้งเรื่องยังต้องมีเหตุการณ์หรือ "ภัย" อื่นๆ อีก ก็กำลังค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ครับ บางทีพอคิดหา "ภัย" ได้อันหนึ่งแล้ว เราก็เอาไอเดีย "ภัย" นั้นมาดัดแปลงหรือมาหาไอเดีย "ภัย" อื่นต่ออีกก็ได้ด้วย เช่น
เจอสัตว์ป่าตัวเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายตัว

เจอสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง --> เจอสัตว์ป่าชนิดอื่น

เจอสัตว์ป่าชนิดเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายชนิด

เจอสัตว์ป่าทีเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายทีต่อเนื่องกัน
ตอนนี้คุณพีทกำลังนึกถึงอีกกรณีคือ เจอสัตว์ชนิดเดิม แต่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากเดิม และส่งผลต่อคนที่เกี่ยวข้องแตกต่างจากเดิมด้วยครับ

คุณพีทขอเวลานั่งคิดนอนคิดเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วบล็อกต่อไปเราจะมาคุยกันถึง "เรื่องราว" นะครับ ว่ามันต่างจาก "เหตุการณ์" ยังไง ทำไมคุณพีทถึงแยกเป็นอีกหัวข้อนึง

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (2) ตัวละคร

ยังคงอยู่ในเรื่องนี้นะครับ
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
บล็อกนี้เป็นหัวข้อที่ 2 หลังจากคุยเรื่องสถานที่และบรรยากาศไปแล้ว

ย้ำอีกรอบ (จากบล็อกข้างบน) คือ ในขั้นนี้เราคุยกันแค่การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ เวลาเราพูดถึงตัวละคร ไม่ได้หมายความว่า เราต้องสร้างตัวละครทั้งหมดทุกคนออกมาอย่างละเอียดในขั้นนี้นะครับ

ในขั้นนี้เราจะดูแค่ว่า ตอนคิดสร้างไอเดียนิยายเรื่องใหม่เนี่ย การคิดเกี่ยวกับตัวละครจะมาช่วยเราได้อย่างไรบ้าง

ที่จริง ถัดจากสถานที่และบรรยากาศซึ่งเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจนที่สุดแล้ว หัวข้อที่ 2 ตัวละคร กับหัวข้อที่ 3 เหตุการณ์ มีระดับความง่ายในการคิดใกล้เคียงกันครับ ใครถนัดอันไหนมากกว่าก็จะรู้สึกว่าเริ่มคิดจากตรงนั้นง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากตัวละครก่อนแล้วไปหาเหตุการณ์เสมอไป

ส่วนตัวคุณพีทชอบขลุกอยู่กับตัวละครมากกว่าด้วย แล้วก็อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกคุยเรื่องนี้ก่อนก็คือ ในทุกเหตุการณ์จะต้องมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้อง พอตอนคิดไอเดียเหตุการณ์ เราก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า "ใคร" อยู่ในเหตุการณ์นั้นอยู่ดี ก็เลยคิดว่าคุยตัวละครก่อนแล้วกัน (แต่เวลาคิด จะคิดอันไหนก่อนก็ได้ครับ)

ตัวละครช่วยในการสร้างไอเดียนิยายอย่างมาก (ถึงมากที่สุด) เพราะนิยายคือเรื่องราวของตัวละคร

ถ้าไม่มีตัวละคร ก็ไม่มีนิยาย ไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราว และ... ไม่มีนิยาย

ตัวละครมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในสองแง่มุมหลักๆ คือ (1) เป็นผู้กระทำหรือก่อให้เกิดเหตุการณ์ และ (2) เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ (ไม่ว่าจะตัวเองทำหรือคนอื่นทำ)

ในขั้นของการสร้างไอเดียสำหรับนิยายเรื่องใหม่ คำถามแรกสุดที่ช่วยในการคิดก็คือ เราอยากจะเล่าเรื่องของใคร?

เช่น เราอยากจะเล่าเรื่องของหญิงสาวที่แก่นแก้ว แสนซน กล้าหาญ ไม่ยอมลงให้ใคร แต่ลึกๆ ในใจหวาดกลัวผีเป็นที่สุด!

หรือเรื่องของชายหนุ่มผู้อ่อนโยนเสียจนอ่อนนุ่ม ถูกคนอื่นมองว่าเป็นตุ๊ด ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาชอบผู้หญิง แต่ผู้หญิงกลับเห็นเขาเป็นแค่ "เพื่อนสาว" เสียนี่

หรือเรื่องของหญิงชราที่เคยมีฐานะสูงส่ง แต่ต้องสูญเสียทุกอย่างในชีวิต และต้องต่อสู้ชีวิตทั้งที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยแล้ว

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นนิยายแนวไหน ก็สามารถใช้ตัวละครเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างไอเดียได้ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นแนวรัก แนวตลกขบขัน แนวแอคชั่นตื่นเต้น แนวลึกลับสยองขวัญ แนวสืบสวน หรือแนวชีวิตหนักๆ

ในขั้นนี้เราไม่จำเป็นต้องคิดและเค้นเอาข้อมูลทุกอย่างของตัวละครออกมาให้ครบทุกด้าน แค่พอให้เห็นจุดสำคัญๆ ที่ช่วยให้เราสร้างไอเดียต่อได้ก็พอ หาจุดเด่นๆ ที่เราอยากเขียน แล้วคิดต่อไปถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจุดเด่นนั้น พอเราิคิดไปถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวแล้ว มันก็มักจะมาช่วยเราให้คิดต่อได้ว่า ตัวละครต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร เรื่องถึงจะเกิดขึ้นแบบที่เราต้องการ

จากตัวอย่างหญิงสาวแก่นแก้วกล้าหาญแต่กลัวผี สมมุติว่าคิดต่อไปที่เหตุการณ์ให้เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์จากลักษณะของตัวละคร เธอก็อาจจะโดนท้าทายให้เข้าไปพิสูจน์ความลึกลับของบ้านผีสิงที่เล่าลือกัน ทีนี้เราก็คิดต่อได้หลายทางเลย แล้วแต่ว่าเราจะชอบทางไหน

เช่น ถ้าเป็นแนวตลกขบขัน บางทีบ้านนั้นอาจจะไม่มีผีเลยสักนิด แต่หญิงสาวจะหลุดแสดงอาการปอดแหกออกมาให้เพื่อนเห็น ทั้งที่พยายามปกปิดอย่างที่สุด

แต่ถ้าเป็นแนวลึกลับสยองขวัญ บ้านนั้นคงต้องมีผีจริงๆ แล้วล่ะ  แล้วพอมีเหตุการณ์ลึกลับเกิดขึ้นในบ้าน หญิงสาวผู้นั้นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะพ่ายแพ้ต่อการท้าทายหนีไปก่อน หรือจะสติแตกประสาทผวา หรือจะรวบรวมความกล้าหาคำตอบอะไรบางอย่างได้สำเร็จ

เวลาเราคิดถึงตัวละครและสิ่งที่ตัวละครต้องเจอหรือต้องทำ บางทีก็จะทำให้เรามองเห็นว่าต้องมีตัวละครอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อช่วยเติมเต็มเหตุการณ์หรือเรื่องราว ไม่งั้นเรื่องมันก็เกิดขึ้นไม่ได้

อย่างในตัวอย่างข้างต้น เมื่อมีคนถูกท้า ก็ต้องมีคนท้า แล้วคนท้าจะเป็นใคร สำคัญแค่ไหน เกี่ยวข้องกับหญิงสาวอย่างไร ทำไมเธอถึงต้องให้ความสำคัญกับการท้าทายนี้ ทำไมถึงเลี่ยงไม่ได้ คนท้าอาจจะเป็นชายหนุ่มที่เธอแอบชอบ หรืออาจจะเป็นชายหนุ่มที่แอบชอบเธอแต่เธอไม่ชอบ หรืออาจจะเป็นหญิงสาวอีกคนที่เป็นคู่แค้นกันมานาน หรืออาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่

พอเราคิดนู่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเกิดไอเดียว่า ในนิยายของเรามันอาจจะมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นได้บ้าง บางทีคิดไปแล้วไม่ถูกใจ เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ ในขั้นนี้เรายังเปลี่ยนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร เหตุการณ์ หรือเรื่องราวครับ

ส่วนของคุณพีทเอง เริ่มต้นคิดจากตัวละครคนเดียวครับ เนื่องจากเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย และคุณพีทอยากให้ตัวละครค้นพบโลกแฟนตาซีนี้ไปพร้อมๆ กันคนอ่าน ดังนั้นพระเอกจึงไม่ได้เติบโตขึ้นมาในเมืองที่เป็นสถานที่หลักของเรื่อง แต่จำเป็นต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง

แล้วทำไมต้องย้ายมาเมืองนี้ล่ะ? ก็ต้องหาเหตุผลให้พระเอก พอเริ่มหาเหตุผล ก็ต้องค่อยๆ ชวนตัวละครคนอื่นๆ เข้ามาร่วมวงกัน ไม่งั้นเดี๋ยวพระเอกจะลอยตุ๊บป่องๆ อยู่คนเดียวในเรื่อง

คุณพีทนั่งคิดนอนคิดมาหลายวัน จากตัวละคร ไปเหตุการณ์ แล้วกลับมาตัวละคร แล้วไปเหตุการณ์อีก ตอนนี้นับคร่าวๆ ได้ตัวละครสำคัญๆ มาหลายคนแล้วครับ ยังไม่ได้แยกแยะชัดเจนว่าใครบ้างจะเป็นตัวละครหลัก ใครจะเป็นตัวละครรอง และใครจะเป็นตัวประกอบ เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และเรื่องราว ว่าใครจะมีบทบาทสำคัญแค่ไหนในเรื่อง

เท่าที่ค้นพบคร่าวๆ ตอนนี้มีพระเอก (หนึ่งคน) ผู้ช่วยพระเอก (หนึ่งคน) ผู้อาวุโสที่ปรึกษาของพระเอก (หนึ่งคน) แล้วก็มีพ่อของพระเอก (หนึ่งคน) แม่ของพระเอก (หนึ่งคน) และคนทำงานในบ้านอีกจำนวนหนึ่ง อันนี้ฝั่งพระเอก

(เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่แนวรัก เลยไม่มีพระเอกคนที่สองนะครับ มีคนเดียวพอแล้ว)

แล้วก็ต้องมีฝั่งอุปสรรค ต้องมีคนที่คอยสร้างอุปสรรคให้พระเอก (หนึ่งคน) ต้องมีคู่แข่งพระเอก (หนึ่งคน ไม่งั้นพระเอกจะสบายไป) และกำลังคิดว่าอาจจะมีตัวละครในระดับเดียวกันกับพระเอกและคู่แข่ง ที่เป็นชนวนให้เกิดการแข่งขันขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อนพระเอกเสียทีเดียว เป็นคนเพิ่มความยุ่งยากเสียมากกว่า (หนึ่งคน) และในบรรดาอุปสรรคเหล่านี้ ก็ต้องมีลูกน้องหรือผู้รับใช้อีกจำนวนหนึ่ง

เนื่องจากนิยายเรื่องนี้จะไม่ยาวมาก ประมาณ 120 หน้า เรื่องราวคงไม่ซับซ้อนมาก คุณพีทเลยคิดว่าเริ่มต้นจากแค่นี้ก่อน น่าจะเพียงพอสำหรับบทบาทหลักๆ ที่ทำให้เกิดการผจญภัยขึ้นได้ และทำให้มีอุปสรรคในการผจญภัยด้วย

ส่วน "ภัย" ที่ต้องผจญนั้น จะเป็นอะไร ยากง่ายแค่ไหน ต้องมี "ผู้ร้าย" หรือเปล่า คุณพีทขอเวลาคิดเหตุการณ์กับเรื่องราวก่อนนะครับ ตอนนี้ยังไม่รู้เลยจริงๆ นะเนี่ย

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แก้ปัญหาปุ่มหายใน phpbb ตอนเปลี่ยนธีม

กระดานนักอ่านที่เว็บฟอร์ไรท์เตอร์เมื่อก่อนเป็นสีม่วงครับ ชาวเว็บฟอร์เลยเรียกชื่อเล่นกันติดปากว่า "กระดานม่วง" คู่กับ "กระดานฟ้า" ซึ่งเป็นกระดานสำหรับเขียนนิยายในกิจกรรมแรลลี่ (ส่วนกระดานคุยทั่วไปที่เป็นกระดานหลักของเว็บ บางทีก็เรียกชื่อเล่นว่า "กระดานขาว"

ทีนี้พอพี่ฟีลบกระดานเก่าทำใหม่หมด สีม่วงมันก็หายไปด้วย กลายเป็นสีฟ้าสด (ฟ้ามากกว่า "กระดานฟ้า" เดิมซะอีก) เลยถามกันว่าเปลี่ยนธีมเป็นสีม่วงแบบเดิมดีมั้ย ก็ลองทำสีใหม่มาดูกันในห้องคุย เห็นพ้องต้องกันว่าสีใหม่ใช้ได้ พี่ฟีก็อนุมัติ เลยเปลี่ยนสีธีมใหม่เรียบร้อย

ปรากฏว่าปุ่มแก้ไขข้อความหาย!

ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าหายเพราะอะไร เพราะแก้ไปหลายอย่างแล้วเพิ่งมาสังเกต (ตอนที่คุณพีทใส่โค้ดผิดแล้วแก้ไม่ได้เนี่ยแหละ) ตรวจสอบการตั้งค่าหลายที่ก็ไม่พบผู้ต้องสงสัย เลยลองเปลี่ยนธีมเก่าและใหม่สลับกันดู โป๊ะเชะ! ธีมเก่ามีปุ่ม ธีมใหม่ปุ่มสาปสูญเรียบร้อย ตกลงเป็นที่ธีมนี่เอง

คุณพีทใช้เวลาคุ้ยอยู่หลายชั่วโมงมาก ในที่สุดก็หาสาเหตุเจอและแก้สำเร็จ เลยเอามาลัดคิวบันทึกไว้ตรงนี้ครับ เผื่อคราวหน้าคราวหลังถ้าใช้กระดานยี่ห้อนี้อีก แล้วเปลี่ยนธีมอีก มันจะเจอปัญหาแบบเดียวกันทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องงมอีก

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลทางเทคนิคครับ

กระดานม่วงใช้ยี่ห้อ phpbb (ซึ่งคุณพีทไม่ค่อยได้ใช้และไม่ถนัดเท่าไหร่ มาหัดเล่นก็กับกระดานม่วงนี่แหละ)

ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทย

ธีมมาตรฐานที่ติดมากับโปรแกรมเวอร์ชั่นนี้คือ Prosilver เป็นสีฟ้าสด เนื่องจากเป็นธีมมาตรฐาน ปุ่มฟังก์ชั่นที่มีข้อความบนปุ่มก็เลยมีคนแปลเป็นภาษาไทยให้เรียบร้อย คือมีปุ่มทั้งสองภาษา อังกฤษและไทย

ตอนที่คุณพีทเปลี่ยนสี ไม่ได้ใช้ธีมอื่น ยังใช้ Prosilver อยู่ แต่ที่เว็บ phpbb เขามีเครื่องมือช่วยในการเปลี่ยนสีธีม ชื่อว่า ColorizeIt ให้เราเลือกสีองค์ประกอบสามส่วนได้ตามต้องการ คุณพีทก็จัดการเปลี่ยนสีตามนี้คือ
  1. สีฟ้าเดิม เปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อน ( hue: +90; lightness: +50; saturation: -50 )
  2. สีแดงสดเดิม เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ( hue: -120; lightness: +0; saturation: +0 )
  3. สีเหลืองอ่อนเดิม เปลี่ยนเป็นสีฟ้าอ่อน ( hue: +120; lightness: +50; saturation: +0 )
ได้ธีมใหม่เป็น ม่วงอ่อนแซมฟ้าใส

 phpbb เก็บธีมเอาไว้ที่  /style/ชื่อธีม  (phpbb เรียกธีมว่าสไตล์)  ประกอบด้วยโฟลเดอร์ย่อยคือ
/style/ชื่อธีม/imageset
/style/ชื่อธีม/template
/style/ชื่อธีม/theme
template ใช้เก็บไฟล์ html
theme ใช้เก็บไฟล์ css
imageset ใช้เก็บรูปต่างในธีม

รูปที่ใช้ในธีมจะมีสองกลุ่มคือ รูปที่ไม่มีข้อความ ไม่ว่ากระดานจะใช้ภาษาไหนก็เป็นรูปเดียวกัน จะเก็บไว้ที่ imageset โดยตรง กับอีกกลุ่มคือรูปที่มีข้อความ จะเก็บไว้ในโฟลเดอร์ย่อยแยกตามภาษา เช่น
/style/ชื่อธีม/imageset/en เก็บรูปที่เป็นข้อความภาษาอังกฤษ
/style/ชื่อธีม/imageset/th เก็บรูปที่เป็นข้อความภาษาไทย
ที่เปลี่ยนธีมแล้วปุ่มหาย เพราะปุ่มเหล่านั้นของธีมเดิมภาคภาษาไทยอยู่ในโฟลเดอร์ย่อย /th แต่ธีมใหม่ไม่ใช่ธีมมาตรฐานที่มีคนแปลไว้ ก็เลยไม่มีโฟลเดอร์ย่อย /th พอระบบหารูปไม่เจอ ก็เลยไม่แสดง ปุ่มต่างๆ ที่เคยมีข้อความภาษาไทยอยู่ก็เลยหายไปหมดในธีมใหม่ (มีปุ่มอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ปุ่มแก้ไขข้อความปุ่มเดียว)

วิธีแก้ก็คือ เข้าไปที่ File Manager ของโฮสต์ แล้วสร้าง /th เพิ่มขึ้นมาใต้ imageset ของธีมใหม่ สำหรับกระดานม่วงคุณพี่ไม่มีเวลานั่งทำกราฟิกใหม่ ก็เลยก๊อปปี้เอาปุ่มภาษาไทยจากธีมเดิมมาใช้ในธีมใหม่เลย ซึ่งโทนสีจะเป็นสีแดงกับฟ้า ไม่ขัดกับโทนสีม่วงกับฟ้าเท่าไหร่ พอไปกันได้ครับ

เป็นอันว่าแก้ปัญหาสำเร็จเรียบร้อย ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เอ๊ง)



วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (1) สถานที่และบรรยากาศ

ตอนนี้เรายังคุยกันในเรื่อง
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
อยู่นะครับ ถ้าตามไม่ทัน ย้อนกลับไปอ่านลิงก์ข้างบนก่อนได้นะครับ

สถานที่และบรรยากาศเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดไอเดียที่ง่ายที่สุด และเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด แทบจะจับต้องได้เลยเชียวครับ  เหมือนที่เราเคยได้ยินคนพูด (หรืออาจจะเคยคิดเอง) ว่า อยากเขียนนิยายแนวทะเลทราย (ก็คือเรื่องราวเกิดขึ้นในดินแดนทะเลทราย) อยากเขียนเรื่องการผจญภัยในป่า อยากเขียนเรื่องรักในมหาวิทยาลัย หรืออยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับการทำไร่นา เป็นต้น

นิยายแต่ละเรื่องให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศไม่เท่ากันนะครับ

(1) บางเรื่องให้ความสำคัญมาก ถือเป็นจุดเด่นในเรื่องเลยทีเดียว เช่น เรื่องแนวทะเลทราย สถานที่และบรรยากาศเป็นจุดเด่นถึงขนาดที่ว่าเป็น "แนวนิยาย" ของตัวเองได้เลย บางเรื่องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนประกอบหลักของเรื่องราว แต่ไม่ถึงขนาดว่าเป็น "แนวนิยาย" ตัวอย่างเช่น นิยายที่เขียนเกี่ยวกับการผจญภัยในป่า นิยายที่เขียนเกี่ยวกับไร่นาการเกษตร เป็นต้น

(2) บางเรื่องใช้สถานที่และบรรยากาศเป็นเพียงเวทีสำหรับให้เรื่องราวดำเนินไป แต่ไม่ได้เด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ มักจะเป็นสถานที่ที่คนทั่วไปคุ้นเคย มักจะเป็นฉากในเมือง และมักจะเป็นสถานที่ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นที่นั้นที่นี้ เรียกว่าจะเป็นที่ไหนก็เกือบจะได้ เช่น บ้าน คอนโด สวนสาธารณะ สำนักงาน ร้านค้า ห้าง ร้านอาหาร

(3) บางเรื่องใช้สถานที่และบรรยากาศเป็นเวทีเหมือนกัน แต่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวมากกว่า เรียกว่าต้องเป็นที่นี่นะ ต้องมีลักษณะอย่างนี้นะ เป็นตัวช่วยเอื้อให้เหตุการณ์เกิดได้ง่ายขึ้น หรือเป็นไปในทิศทางที่คนเขียนต้องการได้ง่ายขึ้น หรือเป็นกรอบที่เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นภายในนี้ เช่น เรื่องรักในมหาวิทยาลัย จะมีกลิ่นอายบรรยากาศชีวิตนักศึกษาอบอวลอยู่มาก (แต่ไม่ถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวอย่างแบบแรก) หรือเรื่องรักที่เกิดขึ้นในรีสอร์ต บนเขา ชายทะเล เกาะ เป็นต้น

นิยายหนึ่งเรื่องมักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหลายสถานที่ แต่บางเรื่องจะมีสถานที่หลักที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้น สถานที่หลักเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของเรื่องไปโดยปริยาย

เช่นถ้าเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะ แม้จะมีฉากในเมืองหรือบนฝั่งบ้าง แต่คนอ่านก็จะรู้ว่าเวทีของเรื่องนี้ แท้จริงแล้วอยู่บนเกาะ

หรือเรื่องรักในมหาวิทยาลัย ก็จะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกรั้วบ้าง เช่น ที่บ้าน หรือไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด แต่บรรยากาศชีวิตนักศึกษาก็จะตามติดไปทุกที่

หรือนิยายแนวทะเลทราย ก็อาจจะมีหลายฉากที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ทะเลทรายด้วย เช่น ประเทศไทย หรือประเทศฝรั่ง แต่คนอ่านก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องแนวทะเลทรายอยู่ดี

แล้วทำไมคุณพีทถึงเขียนว่า "สถานที่และบรรยากาศ" มันต่างกันอย่างไร ใช้คำว่า "สถานที่" อย่างเดียวไม่ได้หรือ?

ที่จริงมันเป็นคนละอย่างกันนะครับ แต่เวลาเขียนนิยาย สองอย่างนี้มันเกี่ยวพันกันมาก มักจะไปด้วยกัน สอดคล้องกัน พึ่งพากัน มันก็เลยง่ายกว่าถ้าจะคิดไปด้วยกัน แต่ถ้าอยากทำความเข้าใจแยกแยะก็มีประโยชน์เหมือนกันครับ

สถานที่ คำนี้เข้าใจง่าย ก็คือพื้นที่ พื้นดิน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร อาณาเขต เป็นเรื่องของสิ่งของ สามารถเขียนในแผนที่ได้ วัดขนาดกว้างยาวสูงได้ จับต้องได้ เช่น พื้นที่ทะเลทราย พื้นที่ป่า พื้นที่รีสอร์ต พื้นที่ชายทะเล พื้นที่เกาะ พื้นที่ในเขตมหาวิทยาลัย พื้นที่ไร่นา เป็นต้น

บรรยากาศ คำนี้เป็นนามธรรม ดูมัวๆ จับต้องไม่ได้ แต่คนสามารถ "รู้สึก" ได้ เป็นความรู้สึกที่สืบเนื่องมาจากพื้นที่แห่งนั้น ผูกพันกับพื้นที่เหล่านั้น และบางทีคนก็คิดถึงพื้นที่และความรู้สึกนั้นไปพร้อมๆ กันไม่ได้แยกแยะ

เช่น พูดถึงทะเลทราย นอกจากตัวพื้นที่ที่มีทรายเยอะๆ มีปิระมิด มีเมืองแห้งแล้ง มีโอเอซิส คนยังนึกถึงบรรยากาศอีกหลายอย่าง เช่น ความร้อน อูฐ ความเวิ้งว้าง อันตราย ความลึกลับ บางคนอาจจะนึกถึงพายุทราย บางคนนึกถึงเนินทรายที่เป็นลูกคลื่น บางคนนึกถึงกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อน บางคนอาจจะนึกไปถึงแมงป่องที่ซ่อนตัวอยู่ในทราย  ในแง่ของการเขียน/อ่านนิยาย คนยังนึกต่อไปถึงชีคหนุ่มหล่อตาคมผิวขาวเคราเข้ม ที่ร้อนแรง เอาแต่ใจ ไม่ยอมใคร (แต่ยอมนางเอกคนเดียว) นึกถึงการลักพาตัว การเดินทางข้ามทะเลทราย เห็นมั้ยครับว่า พื้นที่ทะเลทรายเพียงอย่างเดียว แต่มีบรรยากาศต่างๆ พ่วงท้ายมาด้วยมากมายเหลือเกิน

พื้นที่อื่นๆ ก็เหมือนกันครับ บางพื้นที่จะมีบรรยากาศเกือบเป็นสูตรสำเร็จติดมาด้วย บางพื้นที่อาจจะมีบรรยากาศหรือความรู้สึกได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับนิยายแต่ละเรื่อง สุดแต่คนเขียนจะเลือกใช้ เช่น พื้นที่ป่า อาจจะเป็นป่าลึกลับอันตรายในแนวของเพชรพระอุมา อาจจะเป็นป่าร่มรื่นสวยงามตามแบบนิทานฝรั่ง หรืออาจะเป็นป่าที่มีความขัดแย้งของการลักลอบตัดไม้ อันตรายในแนวแอคชั่นก็ได้

แล้วมันช่วยในการสร้างไอเดียเริ่มเรื่องได้ยังไง?

ถ้านิยายของเราเป็นแบบที่ (2) ข้างต้น คือสถานที่เป็นแค่เวทีให้เกิดเหตุการณ์ แต่ไม่ได้เกี่ยวพันกับตัวเหตุการณ์เท่าไหร่ ตรงนี้ไอเดียเกี่ยวกับสถานที่ก็อาจจะมีประโยชน์น้อยหน่อยครับ เราจะมานั่งออกแบบบ้านนางเอก คอนโดพระเอก หรือที่ทำงานผู้ร้าย ก็ย่อมได้ไม่เสียหาย แต่มันก็ไม่ทำให้เราคิดออกสักเท่าไหร่ว่าเรื่องราวในนิยายจะเป็นยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ก็ข้ามไปคิดไอเดียจากหัวข้ออื่นดีกว่า

แต่ถ้านิยายของเรามีทีที่ว่าจะเป็นแบบที่ (1) คือสถานที่เป็นจุดเด่นของเรื่อง หรือแบบที่ (3) คือสถานที่เป็นเวที แต่มีส่วนสัมพันธ์กับเหตุการณ์และความรู้สึกในเรื่อง การคิดเรื่องสถานที่ก็สามารถช่วยให้เราสร้างไอเดียสำหรับเรื่องราวต่อได้ไม่น้อยเหมือนกันครับ

นอกจากนิยายแนวทะเลทรายแล้ว ก็ยังมีนิยายแนวอื่นที่สถานที่และบรรยากาศมีประโยชน์มากต่อการคิดสร้างเรื่องครับ เช่น นิยายแนวแฟนตาซี นิยายแนววิทยาศาสตร์และจินตนาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ฉากเป็นโลกอื่นที่ไม่ใช่โลกปัจจุบันที่เราอยู่ เช่น โลกต่างดาว อาณานิคมบนดาวอื่น โลกอดีต โลกอนาคต หรือโลกต่างมิติ) นิยายแนวเหนือธรรมชาติ (มักใช้ฉากเป็นโลกปัจจุบันที่เราอยู่ แต่มีส่วนประกอบบางอย่างที่เหนือธรรมชาติ) หรือนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น

แล้วต้องคิดอะไรบ้าง? คิดแค่ไหน?

ถ้าแบบประหยัดแรงที่สุดก็ตอบว่า คิดเท่าที่คิดว่าจะต้องใช้ในการเขียนครับ แต่ถ้าเป็นคุณพีทเอง ก็คิดไปเรื่อยๆ เท่าที่ยังสนุกอยู่และยังคิดไหว เพราะไอ้ที่เรายังไม่รู้ว่าจะต้องใช้หรือเปล่า พอลงมือเขียนจริงแล้วอาจจะได้ใช้ก็ได้ หรืออาจจะมาช่วยให้เราคิดเรื่องราว/เหตุการณ์ออกมากขึ้นก็ได้

ที่ต้องไม่ลืม (คุณพีทเขียนเล่าไว้ในบล็อกที่แล้ว) ก็คือว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดสถานที่และบรรยากาศออกมาหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างจนละเอียดยิบถึงขนาดเขียนแผนที่ได้เลยในขั้นนี้ เราค่อยๆ คิดจากภาพคร่าวๆ ก่อนครับ ได้แค่ไหนแค่นั้น แล้วพอเราทำงานไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ เราก็จะลงรายละเอียดมากขึ้นจนชัดเจนเพียงพอสำหรับเขียนออกมาในที่สุด

หัวใจของขั้นนี้คือ การสร้างไอเดียสำหรับการเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ไงครับ

รายงานว่าตอนนี้คุณพีทก็เริ่มๆ คิดสถานที่และบรรยากาศไปทีละนิดละหน่อยแล้วครับ จากที่กำหนดไว้ว่าจะเขียนแนวแฟนตาซีผจญภัยไม่เน้นความรัก คุณพีทก็ต้องสร้างดินแดนแฟนตาซีขึ้นมาโลกหนึ่ง ทีนี้พระเอกจะอยู่ตรงไหน ทำไมถึงต้องออกผจญภัย คุณพีทก็ต้องหาช่องทางสักเล็กน้อย ตอนนี้เล็งไว้ว่าตัวพระเอกเองจะต้องอยู่ในเมือง และความจำเป็นทางครอบครัวจะเป็นตัวบีบบังคับให้ต้องผจญภัย ตอนผจญภัยก็ค่อยออกไปร่อนเร่ในป่าเขาตามสูตรนิยายผจญภัยทั่วไป

บรรยากาศของนิยายแฟนตาซีก็มีหลายแบบ มีทั้งแบบโบราณ คือเป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีหนักไปทางเครื่องกล อาจจะใช้แรงงานคน สัตว์ หรือพลังงานจากธรรมชาติ ในการหมุนเฟืองต่างๆ เพื่อทำงาน แต่ไม่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างโลกยุคปัจจุบัน (บางโลก/บางเรื่องมีการใช้พลังงานจากการเผาไหม้เช่นพลังงานไอน้ำ) นิยายแฟนตาซีบางเรื่องใช้พลังเวทมนตร์หรือพลังเหนือธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใช้บรรยากาศเทคโนโลยีที่เน้นพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน และอุปกรณ์อิเลกโทรนิกส์อย่างยุคปัจจุบัน (มันคงทำให้เสียบรรยากาศมั้งครับ)

นิยายเรื่องนี้ของคุณพีทก็จะเดินตามแนวนี้ครับ เพราะส่วนตัวชอบบรรยากาศแบบนี้ มันขลังดี ว่างั้น ฮ่าๆๆ นึกถึงนิทานฝรั่ง หรือบรรยากาศแบบในลอร์ดออฟเดอะริงส์ หรือบรรยากาศแบบในนิยายแฟนตาซีกระแสหลักของฝรั่ง ผู้คนก็จะใส่เสื้อผ้าแบบโบราณๆ อะไรทำนองนั้น แต่ของคุณพีทคงไม่ใช่เสื้อผ้าฝรั่งโบราณเสียทีเดียว แล้วก็ไม่ใช่เสื้อผ้าไทยด้วย (เพราะเป็นนิยายแฟนตาซีนะ ไม่ใช่แนวประวัติศาสตร์) จะเป็นแบบที่คุณพีทชอบและอยากให้เป็น ฮ่าๆๆ แล้วมานั่งคิดสร้างภูมิอากาศให้เหมาะสมกับเสื้อผ้าอีกที (จริงๆ มันต้องออกแบบเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศนี่นา!)

นอกจากตัวสถานที่ที่เป็นพื้นที่แล้ว คุณพีทก็กำลังคิดไปถึงบรรยากาศทางสังคม สภาพสังคม ครอบครัว กลุ่มคน ชนชั้นในสังคมด้วยครับ ไม่ได้คิดเยอะนะ แค่นิดๆ หน่อยๆ เพื่อจะหาที่ให้พระเอกยืนเท่านั้นเอง ว่าจะเป็นครอบครัวคนชั้นไหน พ่อแม่เป็นใคร ทำไมถึงต้องออกผจญภัย แต่คุณพีทไม่อยากเขียนเรื่องเจ้าชายเจ้าหญิงเท่าไหร่ ถึงแม้ว่านิทานฝรั่งที่อ่านจะเป็นเรื่องเจ้าชายเจ้าหญิงเสียเยอะ แต่อยากให้พระเอกเป็นคนธรรมดามากกว่า (เหมือนคนเขียน!) แต่จะมีเจ้าชายเจ้าหญิงเป็นตัวประกอบบ้างหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เหมือนกัน เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที

ยังคิดไม่เสร็จ ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกแง่มุม แต่ก็พอให้เห็นบรรยากาศของเรื่อง ว่านิยายเรื่องนี้จะออกมาเป็นทำนองไหนนะครับ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการสร้างไอเดีย เย้ ตบมือให้ตัวเอง

บล็อกนี้คุยเรื่องสถานที่และบรรยากาศแล้ว วันหลังมาคุยกันเรื่องตัวละครต่อครับ

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่

ไอเดีย แปลง่ายๆ ว่าความคิด ในการทำงานแทบทุกอย่างเรามักจะใช้ไอเดียเสมอ ในการเขียนนิยาย เรายิ่งต้องใช้ไอเดียในแทบจะทุกขั้นตอนเลยนะครับ เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้น ยาวไปจนจรดนิ้วบนแป้นพิมพ์กลั่นความคิดมาเป็นตัวหนังสือเลยทีเดียว

ในบล็อกนี้ เราจะขีดเส้นคุยกันเฉพาะตอนเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ก่อนนะครับ เพราะตอนนี้คุณพีทยังอยู่ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาจากบล็อกแรก คือ
จะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องใหม่ ต้องคิดอะไรบ้างนะ?
เท้าความนิดนึงว่าคุณพีทกำลังจะเริ่มเขียนนิยายอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่ที่เว็บฟอร์ไรท์เตอร์ เลยต้องมานั่งคิดเตรียมตัวสำหรับการเขียน โดยเริ่มจาก

1. พิจารณากรอบหรือข้อกำหนดในการเขียนนิยายครั้งนี้แล้วสรุปว่า จะเปิดเรื่องใหม่ (ไม่เขียนต่อจากเรื่องชุดเดิมที่ค้างไว้) ความยาว 120 หน้า ระยะเวลาเขียนจริงไม่เกิน 40 วัน

2. นิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย และไม่เน้นความรัก

ขั้นต่อไปคือ

3. สร้างไอเดียว่าเรื่องที่เราจะเขียน มันจะเกี่ยวกับอะไร เป็นเรื่องของใครบ้าง โทนอารมณ์ของเรื่องเป็นแบบไหน แนวทางการดำเนินเรื่องจะเป็นยังไง

ซึ่งก็คือขั้นที่เราจะคุยกันในบล็อกนี้ครับ

มีเรื่องสำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงและทำความเข้าใจกันก่อน คนที่เขียนนิยายมาหลายๆ เรื่องจะรู้แล้ว แต่คนที่เพิ่งเริ่มเขียน หรือคนที่อ่านตำราเขียนนิยายแต่ยังไม่ได้ลองเขียน อาจจะไม่ทันนึกถึงหรือไม่ทันสังเกต

เวลาเราอ่านตำรา เขาเขียนเพื่อให้คนอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพตามได้ง่าย เลยมักจะอธิบายขั้นตอนการทำงานเป็นขั้นๆ อย่างชัดเจน เป็นระเบียบเรียบร้อย ว่าขั้นแรกต้องคิดเรื่องนี้นะ แล้วต้องมาเรื่องนี้ เช่น เรื่องพล็อต ตัวละคร การดำเนินเรื่อง มุมมอง ฯลฯ (ยังไม่ต้องสนใจว่าอันไหนคืออะไรนะครับ ยกตัวอย่างให้ดูเฉยๆ)

บางทีคนที่ไม่เคยเขียนหรือเพิ่งเริ่มเขียน อ่านแล้วอาจจะนึกไปว่า เราต้องคิดทีละหัวข้อ แล้วคิดให้เสร็จเป็นหัวข้อๆ ไป แล้วพอลองลงมือทำตาม คนส่วนใหญ่ก็มักจะติดขัด เพราะจะคิดให้ "เสร็จ" ทั้งหัวข้อนี่ มันเยอะนะ และทำให้รู้สึกว่ายาก

ในทางปฏิบัติ คนที่เขียนนิยายมาเยอะๆ จะรู้ไปเองว่า เวลาคิดเราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปทีละหัวข้อ แต่มันค่อยๆ คิดไปพร้อมๆ กันทุกหัวข้อนั่นแหละ แต่ทีละนิดละหน่อย จนกระทั่งมันค่อยๆ ประกอบรวมกันเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ตอนที่เราจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ในที่สุด

เพราะฉะนั้นในแต่ละหัวข้อนี่ เราอาจจะคิดไปแล้ว แต่ยังไม่ละเอียด ยังมัวๆ อยู่ แต่พอเราคิดเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน มันก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ิคิดไปแล้ว ย้อนกลับไปกลับมาหลายตลบ จนได้เรื่องราวที่ถูกใจที่สุดออกมา

ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับการปั้นดินน้ำมันนะครับ สมมุติเราจะปั้นรูปช้าง เราอาจจะเลือกปั้นตรงไหนก่อนก็ได้ อาจจะหัว หรือหู หรืองวง หรืองา หรือขา หรือพุง หรือบางคนอาจจะคลึงดินน้ำมันเป็นเส้นยาวๆ แล้วทำหางก่อนเป็นอันดับแรกก็ยังได้!

พอเราปั้นชิ้นแรกแล้ว อาจจะเป็นหัว แต่พอเราปั้นงา เอามาลองติดดู แล้วมันเล็กไปหรือใหญ่ไป ดูแล้วเหมือนช้างพิการ เราก็ต้องแก้ใหม่ อาจจะเอาดินน้ำมันมาแปะหัวให้ใหญ่ขึ้น หรือเด็ดดินน้ำมันออกจากงาให้มันสั้นลง

หรือพอเราปั้นขาแล้ว เอามาต่อกับตัว ดูไปดูมาคล้ายขาหมู (พะโล้) มากกว่าขาช้าง จะแค่แปะเพิ่มหรือเด็ดออกคงไม่พอ อาจต้องรื้อขา (ดูตัวอย่างจากหนังสือการ์ตูน?) แล้วปั้นใหม่กันเลยทีเดียว ไม่งั้นเดี๋ยวช้างของเราจะกลายเป็นช้างพะโล้รมควัน

การเขียนนิยายก็คล้ายๆ กันนะครับ สมมุติเราเริ่มจากตัวละคร คิดไปคิดมา จะให้คนนี้เป็นแบบนี้ คนนั้นเป็นแบบนั้น ดูน่าจะถูกใจดีแล้วนะ แต่นิยายไม่ใช่แค่ข้อมูลรายละเอียดตัวละคร มันต้องมีการกระทำ มีเรื่องราว พอเรามาคิดเรื่องราวและการกระทำของตัวละคร ไอ้ที่เคยคิดเอาไว้อาจจะไม่เหมาะเสียแล้ว ต้องเปลี่ยนอาชีพพระเอกใหม่ ต้องเปลี่ยนบุคลิกผู้ร้ายใหม่ เพื่อให้เรื่องราวมันเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

นี่เป็นสิ่งแรกที่ควรสังเกตและทำความเข้าใจ ในการคิดเพื่อเขียนนิยายครับ โดยสรุปก็คือ ในทางปฏิบัิติแล้ว เราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปเลยทีละหัวข้อ ก่อนที่จะขึ้นหัวข้อใหม่ (ตามที่ตำราเขียนบอก) เพราะทุกหัวข้อมันเกี่ยวข้องกันไปหมด (เหมือนหัวช้างกับงาช้าง หรือเหมือนบุคลิกตัวละคร กับการกระทำของตัวละคร) แต่เรามักจะค่อยๆ คิดทุกหัวข้อไปด้วยกัน ทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งแต่ละส่วนค่อยๆ ชัดเจนขึ้น และมาประกอบกันเป็นภาพรวมในที่สุด

เพราะฉะนั้นในขั้นที่ 3 หรือการสร้างไอเดียนี้ จึงเหมือนกับการวาดรูปไว้ในใจ (หรือในสมุด) โดยคร่าวๆ ว่าเรื่องราวของเราจะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง จะมีใครมาเกี่ยวข้องบ้าง เหตุการณ์มันจะเป็นทำนองไหนบ้าง โดยที่รายละเอียดแต่ละส่วนจะยังไม่ชัดเจนเลย แต่ดูรวมๆ แล้วพอเห็นโครงคร่าวๆ ว่า นี่คือช้างนะ เอ๊ย นี่คือนิยายเรื่องนี้นะ

การ "หา" ไอเดียเพื่อมาสร้างภาพคร่าวๆ ในขั้นนี้ ก็ใช้เทคนิคไม่ต่างจาการ "หา" ไอเดียในขั้นอื่นๆ หรือในการทำงานทั่วๆ ไปนะครับ อาจจะหาจากสิ่งรอบตัว จากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ แต่ในบล็อกนี้เราจะยังไม่คุยเรื่องนี้ก่อนนะ เราจะข้ามไปก่อน แล้วมาดูเรื่องการ "คิด" หรือ "สร้าง" ไอเดียกันเลย ว่าเมื่อเราหาไอเดีย/แรงบันดาลใจจากแหล่งต่างๆ แล้ว ตอนเอามาสร้างเป็นนิยายเรื่องใหม่นี่ มันคิดจากตรงไหนได้บ้าง

มีแนวทางง่ายๆ ที่ใช้ช่วยเริ่มต้นสร้างไอเดียสำหรับนิยายเรื่องใหม่ 4 แนวทางครับ จะเลือกใช้แค่แนวทางเดียว หรือใช้หลายแนวทางประกอบกันก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน  คุณพีทจะเล่าโดยเรียงจากแนวทางที่คิดว่าเห็นภาพได้ง่าย เป็นรูปธรรมที่สุด ไปหาแนวทางที่ใช้ัจินตนาการมากขึ้นนะครับ

สำหรับบล็อกนี้ คุณพีทจะพูดถึงสี่หัวข้อนี้คร่าวๆ ให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วบล็อกต่อๆ ไป จะหยิบแต่ละหัวข้อมาเจาะในรายละเอียด พร้อมทั้งบันทึกว่าคุณพีทได้ใช้แนวทางในหัวข้อนั้นกับการคิดนิยายเรื่องนี้ยังไงบ้างนะครับ

3.1 สถานที่และบรรยากาศของเรื่อง เป็นจุดที่คิดได้ง่าย เห็นภาพได้ง่ายที่สุด และเป็นจุดเด่นของนิยายหลายเรื่อง (และหลายแนว) ที่นิยมกันมากก็เช่นนิยายแนวทะเลทราย บางคนอยากให้มีปิระมิด บางคนนึกถึงแม่น้ำไนล์ บางคนชอบบรรยากาศกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อน (เบดูอิน) หรือการขี่อูฐกลางแสงจันทร์ ถ้าไ่ม่ใช่แนวทะเลทราย บางคนอยากเขียนบรรยากาศของรีสอร์ตบ้านไร่ บางคนอยากเขียนแนวชายหาด ชายทะเล หรือเกาะ บางคนถนัดแนวป่า บางคนอาจจะชอบแนวโลกแฟนตาซี มีป่าลึกลับ มีปราสาท เป็นต้น

3.2 ตัวละคร ไม่ว่าเร็วหรือช้า ก็หนีตัวละครไปไม่พ้นนะครับ เพราะตัวละครเป็นผู้เล่น เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ถ้าไม่มีตัวละคร ก็ไม่มีนิยาย บางคนอยากเขียนนางเอกที่แก่นแก้วแสนซน หรือนางเอกที่เก็บกดแข็งนอกอ่อนใน บางคนอยากเขียนพระเอกที่ร้ายสุดๆ แต่สยบให้นางเอกคนเดียว บางคนอาจจะอยากเขียนตัวละครที่สดใสร่าเริงภายนอก แต่ลึกๆ แล้วอ่อนไหวและอ่อนแอ เป็นตัว

3.3 เหตุการณ์ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งของเรื่อง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร (มักจะเป็นตัวละครหลัก เพราะในขั้นนี้เรายังคิดคร่าวๆ ตัวละครประกอบยังไม่ค่อยโผล่) เช่น รถชน แต่งงาน ทะเลาะกัน โดนโกง สะดุดเท้าหกล้มหัวทิ่ม ตกหลุมรัก เสียพนัน เล่นกีฬา เหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนมันจะเล็กๆ แต่มันก็เป็นไอเดียเริ่มต้นให้มีเรื่องราวติดตามมาเป็นขบวนยาวเหยียดได้เหมือนกัน

3.4 เรื่องราว หมายถึงการที่เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนเกิดเป็นเรื่องราวที่มีความหมายหรือสร้างความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา เช่น (ตัวอย่างมาตรฐาน) นางเอกเป็นหญิงสาวผู้ต่ำต้อย (ในด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะเป็นฐานะ การศึกษา การงาน) ถูกกดขี่ข่มเหงจากคนรอบข้าง (แม่เลี้ยง เจ้านาย) จนกระทั่งได้พบและตกหลุมรักพระเอกซึ่งเป็นชายสูงศักดิ์ (การเงิน การงาน ฐานะทางสังคม) และต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ฯลฯ จนความรักสมหวังในที่สุด เป็นต้น

(ไอเดียของเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะเรียกว่าพล็อต แต่คุณพีทขอเรียกว่า "เรื่องราว" ก่อนนะครับ เพราะคำว่า "พล็อต" นี้เป็นคำเจ้าปัญหา ตำราภาษาไหนๆ ก็แปลเหมือนกันมั่งต่างกันมั่ง นักเขียนแต่ละคนก็มีนิยามคำนี้ต่างๆ กันไป ซึ่งมีประโยชน์ทุกแบบ แต่ในขั้นนี้เรายังไม่ต้องสนใจก็ได้ ว่ามันจะเรียกว่าพล็อตหรือเปล่า ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องเป็นราวก็พอแล้ว)

และในหัวข้อเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะคิดถึง "ชื่อเรื่อง" ของนิยายด้วยเลยก็ได้ เพราะชื่อเรื่องโดยส่วนใหญ่ มักจะสะท้อนหัวใจของเรื่องราวในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ระหว่างที่เราเลือกหาชื่อเรื่องที่ถูกใจ เราก็กำลังคิดและขัดเกลาเรื่องราวในใจไปด้วยพร้อมๆ กันครับ

รายงานในขั้นต้นว่า ขณะนี้คุณพีทกำลังค่อยๆ คิดในขั้นนี้อยู่ เนื่องจากคุณพีทมักจะผูกพันกับตัวละครมากที่สุด ก็เลยเริ่มจากตัวละครก่อน แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงสถานที่กับเหตุการณ์ไปทีละนิด (เนื่องจากเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย ก็เลยต้องให้ความสำคัญกับสถานที่หน่อย) ส่วนตรงเรื่องราวโดยรวม ยังไม่ค่อยได้นึกถึงเท่าไหร่

บล็อกต่อๆ ไปเราจะมาคุยเจาะกันทีละหัวข้อนะครับ

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การพักผ่อน

เมื่อวานเขียนเรื่องความสม่ำเสมอ แต่วันนี้เขียนเรื่องการพักผ่อน มันจะขัดแย้งกันหรือเปล่านะ?

ไม่ว่าจะเครื่องจักรหรือคน ก็ต้องการเวลาหยุดพักด้วยกันทั้งนั้น ถ้าโหมทำงานหนักต่อเนื่องกันโดยไม่รู้จักเว้นจังหวะบ้าง เครื่องก็ไหม้ คนก็คงไหม้ด้วยเหมือนกัน (แต่ไหม้คนละแบบ)

ข้อสำคัญที่ต้องระวังคือ อย่าใช้คำว่าหยุดพักเป็นข้ออ้างสำหรับการอู้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่ากลัวการหยุดพัก อย่าปล่อยให้เครื่องไหม้คามือ

สูตรสำเร็จมันไม่มี ว่าต้องทำงานกี่วันแล้วถึงจะพักได้ และจะพักได้นานแค่ไหน แต่ละคนต้องทำความรู้จักร่างกายและจิตใจของตัวเองเอาเอง

บางทีการพักมีหลายรูปแบบ ไม่ได้แปลว่าต้องอยู่นิ่งๆ เป็นหัวกะหล่ำเสมอไป แต่ละคนต้องรู้จักวิธีการพักผ่อนของตัวเองเอาเองเหมือนกัน

ตอนแรกคุณพีทตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องการเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ต่อ แต่หลังจากที่นอนน้อยมาหลายวัน รู้สึกเลยว่าถึงความคิดเราจะแล่น แต่ร่างกายเราไม่เลิศแล้ว สมควรเข้านอนเร็วสักนิด ยังมีภารกิจช่วงกลางวันอีกหลายวัน

เปลี่ยนใจว่า งั้นเขียนพรุ่งนี้กลางวันแล้วกัน เพราะคาดว่าไม่ต้องออกนอกบ้าน (อย่างสองสามวันที่ผ่านมา)

แต่พอนั่งหน้าจอแล้วก็เปลี่ยนใจอีกรอบ เรื่องการเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ที่จะเขียนต่อ เก็บไว้พรุ่งนี้แหละดีแล้ว เพราะเรื่องมันยาว ต้องใช้เวลานาน แต่วันนี้เขียนเรื่องสั้นๆ สักเรื่องก็คงพอไหว รีบเขียนแล้วรีบไปนอน

คุณพีทก็เลยมาเขียนเรื่องการพักผ่อน อย่างมีความสุข เพราะกำลังจะได้นอนเร็วด้วย และได้เขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอตามที่ตั้งใจไว้ด้วย

บางที ทางออกที่ไม่ต้องซับซ้อน ก็สามารถพาเราไปสู่จุดหมายอย่างสวยงามได้นะครับ

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสม่ำเสมอ

ถ้าเราแค่อยากเขียนนิยายเพื่อระบายความคิดความรู้สึกในแต่ละขณะออกมา จะเขียนได้มากได้น้อย หรือจะจบไม่จบก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนนิยายให้จบ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด) เราคงต้องใส่ใจกับการหาเวลาลงมือเขียนให้ต่อเนื่อง มันถึงจะจบได้

คนที่มีโอกาสในการเขียนนิยายจบมากกว่า ไม่ใช่คนที่เขียนเร็วกว่า แต่เป็นคนที่เขียนอย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทีละนิดทุกๆ วัน ความสม่ำเสมอทำให้เราไม่หยุดก่อนที่จะถึงเป้าหมาย

คนเขียนนิยายเกือบทุกคนไม่ได้มีกิจกรรมแค่การเขียนนิยายอย่างเดียว แต่ยังต้องทำอย่างอื่นมากมายในแต่ละวัน บางคนทำงานประจำเช้าจรดเย็น บางคนทำงานพาร์ตไทม์ บางคนเรียนหนังสือ บางคนดูแลครอบครัว บางคนมีงานอดิเรกอย่างอื่น เช่น ทำสวน วาดรูป ร้องเพลง บ่อยครั้งที่คนอยากเขียนนิยายใช้เวลาทำนู่นทำนี่จนหมดวัน แล้วมาพบว่ามือไม่ได้จับปากกา นิ้วไม่ได้แตะแป้นพิมพ์ นิยายที่อยากจะเขียนก็ยังเป็นแค่กลุ่มควันของความคิด ยังไม่มีโอกาสกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือให้ชื่นใจเสียที

สภาพการณ์แบบนี้คนเขียนนิยายส่วนใหญ่ได้เจอกันมาแล้วทั้งนั้น ที่จริงมันเป็นปัญหาร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ทุกคน ในแวดวงธุรกิจเขาเรียกกันว่าปัญหาการบริหารเวลา

มีคนคิดค้นเทคนิคการบริหารเวลาไว้มากมาย ทุกเทคนิคมีประโยชน์และมีข้อดีข้อด้อยของตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเขียนนิยายอาจจะไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นเครื่องของความตั้งใจจริง เพราะไม่ว่าเทคนิคจะดีแค่ไหน ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง เราก็ละเลยไม่หยิบมันมาใช้อยู่ดี ในทางกลับกัน ถ้าเราเอาจริง ต่อให้ไม่รู้เทคนิคมากมาย เราก็บังคับตัวเองให้ "หาเวลา" ลงมือเขียนจนได้อยู่ดี

ไม่ว่าเราจะเลือกใช้เทคนิคการบริหารเวลาแบบไหนก็ตาม สำหรับคนเขียนนิยาย มีสิ่งที่น่าทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสม่ำเสมออยู่บางอย่างคือ

1. ความสม่ำเสมอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดที่ต่างกัน มีวิธีคิดวิธีการทำงานต่างกัน มีนิสัยในการใช้ชีวิตต่างกัน มีความถนัดในการเขียนต่างกัน ความสม่ำเสมอของคนหนึ่งอาจจะหมายถึงลงมือเขียนทุกวัน แม้จะมีเวลาเพียงแค่ยี่สิบนาทีก็เขียนได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอุ่นเครื่องนานกว่า และต้องการเวลามากกว่าสำหรับการลงมือเขียนแต่ละครั้ง

2. ความสม่ำเสมอไม่ได้แปลว่าต้องทำสิ่งเดียวกันทุกวัน เช่น ลงมือเขียนทุกวัน การทำงารสร้างสรรค์นิยายแต่ละเรื่องมีหลายขั้นตอน ก่อนนิ้วจะแตะแป้นพิมพ์ให้เป็นตัวอักษรบนหน้าจอ คน "เขียน" นิยายต้องทำงานอย่างอื่นเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิด การหาข้อมูล หรือการฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ของตัวเอง คนเขียนนิยายต้องทำความเข้าใจความถนัดของตัวเอง ว่าตัวเองถนัดทำงานแบบไหน บางคนอาจจะถนัดลงมือเขียนทุกวัน มากน้อยขอให้ได้เขียน แล้วมาตัดแต่งขัดเกลาเข้าหากันทีหลัง บางคนอาจจะถนัดเขียนเมื่อพร้อม เมื่อมีภาพเรื่องราวชัดเจนอยู่ในหัว สำหรับคนที่ถนัดแบบนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ลงมือเขียนทุกวัน แต่ถ้าได้ทำงานอะไรก็ตามที่เป็นการปูพื้นฐานให้กับการเขียน ก็ถือว่าเป็นความสม่ำเสมอด้วยเหมือนกัน

3. ความสม่ำเสมอไม่จำเป็นต้องแปลว่าทุกวันติดกันไม่มีวันหยุด มีหลายกรณีที่กิจกรรมอื่นในชีวิตอาจจะกินเวลาในบางวันหมดไปโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางวันในสัปดาห์ที่คนเขียนนิยายอาจจะกันไว้เป็นวันหยุดพักผ่อนเช่นเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ตราบใดที่เรารู้ว่าเราจัดสรรเวลาไว้สำหรับการทำงานเขียนเท่าไหร่ และเราพยายามจัดการตัวเองให้มีวินัย ทำได้ตามเวลานั้น ก็ถือว่าเราทำงานอย่างสม่ำเสมอได้

ถ้าเราทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของความสม่ำเสมอแล้ว เราก็จะเห็นว่าความสม่ำเสมอมีรูปแบบที่สามารถเป็นไปได้อยู่มากมายเหลือเกิน ไม่ได้ตายตัวเป็นอย่างเดียว

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการลงมือเขียนทุกวัน

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการทำงานเขียน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน สัปดาห์ละห้าวัน จันทร์ถึงศุกร์

สำหรับบางคน อาจจะหมายถึงการคิดตลอดเวลาทุกวัน แต่ลงมือเขียนสัปดาห์ละสามวัน จันทร์พุธศุกร์

และอาจจะมีรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความต้องการ และข้อจำกัดของคนเขียนนิยายแต่ละคน

แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างที่พูดถึงไว้ข้างต้น คือการตั้งใจจริง เพราะมันง่ายเหลือเกินที่เราจะบอกตัวเองว่า วันนี้เหนื่อยเกินไป เอาไว้ก่อนแล้วกัน หรือ วันนี้ยังคิดไม่ออก ขอเวลาคิดอีกวัน (แต่ไม่ได้คิด) หรืออะไรอย่างอื่นอีกร้อยแปดพันเก้า

วันนี้ตอนกลางวัน คุณพีทตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนเรื่องความสม่ำเสมอ เพราะรู้ล่วงหน้าว่าตอนกลางคืนจะต้องไปงาน คงเขียนอะไรยาวมากที่ต้องใช้ความคิดเยอะๆ ไม่ไหว

เอาเข้าจริง กลับมาถึงบ้านห้าทุ่ม แม้แต่เรื่องความสม่ำเสมอก็รู้สึกว่าชักจะยาวเกินไป เพราะตามันจะปิดอยู่รอมร่อ (คืนวานนอนไม่ครบแปดชั่วโมง เฮ้อ) ใจหนึ่งบอกว่า งั้นเขียนเรื่องความสม่ำเสมอพรุ่งนี้ก็ได้ ไม่เห็นเป็นไร (ไม่มีใครรออ่าน ไม่ใช่คอลัมน์ประจำของนิตยสาร ไม่มีข้อผูกมัดอะไร)

แต่อีกใจหนึ่งก็รู้ว่า คุณพีทตั้งใจไว้แต่ต้น ว่าจะเขียนบันทึกเป็นประจำ เพื่ออุ่นเครื่องตัวเองให้พร้อมสำหรับการเขียนนิยาย ก็ต้องมาคิดว่า นี่เราเหนื่อยมากจริงๆ จนเขียนไม่ไหว หรือว่าเรารู้สึกขี้เกียจและหาข้ออ้างให้ตัวเองอู้

เดินไปเดินมาเตรียมตัวเข้านอน แล้วก็ตอบตัวเองได้ว่า ไม่ได้เหนื่อยอะไรมากมายขนาดนั้น งั้นวันนี้เราเขียนก่อน เพราะอาจจะมีบางวันที่เราเหนื่อยมากจนเขียนไม่ไหวจริงๆ เก็บโควต้าเอาไว้ลาวันนั้นแล้วกัน

จนถึงบรรทัดนี้ ยังไม่ได้ใช้เทคนิคการบริหารเวลาข้อไหนเลย และคิดไม่ออกด้วยว่าจะต้องใช้ข้อไหน แต่รู้ว่าต้องใช้ความเข้มงวดกับตัวเองนิดนึง

เพราะความสม่ำเสมอจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความตั้งใจจริง (จริงๆ นะเออ)

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องใหม่ ต้องคิดอะไรบ้างนะ?

วางมือจากการเขียนมาเป็นปี (ลืมไปแล้วว่านานเท่าไหร่กันแน่ เอาไว้ค่อยลองนับดูนะครับ) พอนึกว่าจะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องใหม่ ก็เล่นเอานั่งอึ้งเหมือนกันนะครับ ว่ามันต้องเริ่มตรงไหนกันนะ?

ตั้งแต่วันที่พี่ฟีชวนเขียนนิยายร่วมกิจกรรมแรลลี่ของเว็บฟอร์ไรท์เตอร์ นับถึงวันนี้ได้ห้าวัน คุณพีทก็นั่งคิดนอนคิดมาเรื่อยๆ (บางทีก็มียืนคิดและเดินคิดบ้าง) ถึงวันนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเลย ยังว่างเปล่าอย่างรุนแรง เลยคิดว่าลองมานั่งสงบสติอารมณ์ดูใหม่ แล้วเรียบเรียงดูว่า จะเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่นี่ มันต้องคิดอะไรกันบ้างนะ

1. อันแรกเลย พิจารณากรอบหรือข้อกำหนดก่อนดีกว่า ว่ามันมีอะไรช่วยขีดวงให้มันคิดได้ง่ายขึ้นบ้าง (หรือมีอะไรที่จำเป็นต้องจำกัดการคิดของเราบ้าง)

ถ้าเป็นงานที่มีโจทย์มาให้แล้ว (เช่น เขียนตามใบสั่ง) ขั้นนี้ก็คือการหยิบใบสั่งมาพิจารณา ว่าเราต้องผลิตผลงานตามเกณฑ์อย่างไรบ้าง เช่น แนวเรื่อง พล็อต ความยาว จิปาถะ เพราะถ้าไม่ตีกรอบให้ดีๆ คิดไปคิดมาหลุดออกไปนอกกรอบ เดี๋ยวส่งงานไม่ผ่านล่ะแย่เลย

ถ้าเป็นงานที่ไม่มีโจทย์ให้มา ขั้นนี้ก็ต้องมาดูข้อกำหนดแวดล้อมต่างๆ เช่น ถ้าจะเขียนส่งสำนักพิมพ์ จะมีข้อกำหนดเรื่องความยาวหรือเปล่า (บางสำนักพิมพ์ตีพิมพ์เรื่องขนาดยาว บางแห่งตีพิมพ์เรื่องขนาดสั้น ถ้าเราเขียนในขนาดที่ไม่มีใครสามารถพิมพ์ได้ เช่น สั้นเกินไป ยาวเกินไป มันก็ส่งผ่านยาก) จะมีข้อกำหนดด้านแนวเรื่องหรือเปล่า (บางสำนักพิมพ์รับต้นฉบับเฉพาะบางแนว ถ้าเราอยากส่งงานที่นั่น ก็ต้องเขียนในแนวที่เขารับ ไม่งั้นก็ต้องไปส่งที่อื่น) เป็นต้น

กรณีของคุณพีทรอบนี้ เนื่องจากจะเขียนเข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่ มีข้อกำหนดแรกคือความยาวต้นฉบับ ต้องไม่ต่ำกว่า 120 หน้าเอสี่ เทียบกับที่คุณพีทเคยเขียนมาก็ถือว่าไม่เยอะ พอเขียนได้ และพอจะกะจังหวะเรื่องราวได้

ข้อกำหนดที่สองคือระยะเวลา แรลลี่ครั้งต่อไปจะเริ่มเดือนกันยายน จบเดือนพฤศจิกายน มีเวลาสามเดือน หรือ 91 วัน ในช่วงสามเดือนนี้คุณพีทจะอยู่ระหว่างร่อนเร่พเนจรเสียหนึ่งเดือน เหลือแค่สองเดือนที่จะลงมือเขียนได้จริงๆ คิดเป็น 8 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์คุณพีทสามารถทำงานเขียนได้อย่างมากที่สุด 5 วัน แปลว่าคุณพีทมีเวลาทำงานจริงประมาณ 40 วัน สำหรับนิยายความยาว 120 หน้า

นับจากวันนี้ถึงวันเริ่มเขียน คุณพีทจะมีเวลาประมาณสองเดือนครึ่ง แต่เป็นสองเดือนครึ่งที่ต้องวิ่งไปวิ่งมามิใช่น้อย ถ้าจะหยิบเอาเรื่องชุดที่เขียนค้างไว้มาต่อ (ชุดภูตกระซิบสื่อรัก) เวลาแค่นี้ไม่พอแน่ เพราะต้องรื้อฟื้นกันนาน รายละเอียดของหกเล่มที่ผ่านมารวมแล้วแปดเก้าร้อยหน้า คำนวณดูแล้ว เปิดเรื่องใหม่เลยน่าจะง่ายกว่า (เปิดอีกแล้ว เปิดเยอะๆ แล้วเมื่อไหร่จะปิดจนครบเนี่ย?)

สรุป เปิดเรื่องใหม่ ความยาว 120 หน้า เวลาเขียนจริงไม่เกิน 40 วัน

2. พอรู้กรอบชัดเจนแล้ว ก็มาเริ่มคิดส่วนของนิยายจริงๆ ส่วนแรกสุดที่น่าจะคิดถึงคือ แนวเรื่อง

แนวเรื่อง เป็นคำกว้างๆ จริงๆ แล้วไม่มีสูตรหรือกฎเกณฑ์ตายตัว ว่านิยายในโลกนี้จะมีกี่แนว มีแนวไหนบ้าง นิยายบางเรื่องอาจจะมีส่วนประกอบของหลายแนวผสมกันก็ได้ เช่น แนวรักผสมกับผจญภัย แนวเหนือธรรมชาติผสมกับสืบสวน แต่ละประเทศ แต่ละวงการ ก็มีการแบ่งแนวเรื่องต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งานเสียมากกว่าตั้งใจจะให้มันถูกต้องตรงเป๊ะตามหลักวิชาการ เช่น ร้านหนังสือก็จะแบ่งแนวเรื่องตามความสนใจของกลุ่มลูกค้า ร้านหนังสือต่างประเภทก็จะแบ่งแนวเรื่องต่างๆ กัน เช่น บางร้านรวมนิยายไว้ด้วยกันหมดเลย ไปเปิดดูเอาเองแล้วกันว่าเรื่องไหนแนวไหน บางร้านจะแยกหมวดให้ตามความสนใจเรียบร้อย ร้านที่แบ่งหมวดก็ยังแบ่งไม่เหมือนกันอีก บางร้านแยกนิยายวิทยาศาสตร์ออกจากแฟนตาซี บางร้านรวมไว้ด้วยกัน รวมถึงพวกเหนือธรรมชาติที่ไม่ใช่ทั้งวิทยาศาสตร์ทั้งแฟนตาซี หรือบางทีรวมกระทั่งแนวสยองขวัญด้วย

ถ้ากรอบในขั้นที่ 1 ข้างบนรวมถึงแนวเรื่องด้วย ขั้นนี้ก็ถือว่าเรียบร้อยไปไม่ต้องเลือกเอง คนเขียนก็เพียงแต่ทำความเข้าใจให้ชัดเจน (ตั้งแต่ในขั้นที่ 1) ว่าแนวเรื่องที่ใบสั่งกำหนดมานั้นคืออย่างไร กินความแค่ไหน ถ้าไม่แน่ใจก็ควรคุยกับผู้สั่งให้เข้าใจตรงกัน เพราะถ้าเขียนไปแล้วต้องกลับมารื้อจะเสียเวลามาก หรือในกรณีที่เขียนส่งสำนักพิมพ์ที่รับงานเฉพาะแนว คนเขียนก็ต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าแนวที่เขารับคือแนวไหน อาจจะดูจากเว็บของสำนักพิมพ์หน้าที่ประกาศรับต้นฉบับ ติดต่อสอบถามโดยตรง หรือดูจากนิยายที่สำนักพิมพ์จัดพิมพ์ออกมาขายแล้ว

ถ้าไม่มีกรอบในด้านแนวเรื่อง คนเขียนก็ต้องเลือกแนวที่ต้องการจะเขียนเอง โดยปกติแล้วคนเราอ่านหนังสือหรือนิยายได้หลายแนว ในทำนองเดียวกัน คนเขียนแต่ละคนก็มักจะอยากเขียนหรือสามารถเขียนได้หลายแนวเหมือนกัน บางคนอาจจะเขียนแนวที่แตกต่างกันมาก เช่น รักโรแมนติก ลึกลับสยองขวัญ ในขณะที่บางคนอาจจะเขียนแนวที่มีส่วนเกี่ยวข้องคล้ายคลึงกัน เช่น รักโรแมนติก รักตลกเบาสมอง รักรัญจวนอิโรติก ในขั้นนี้คนเขียนต้องหาให้เจอว่ากำลังจะเขียนแนวไหน เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มในการคิดขั้นต่อๆ ไป

แล้วเราจะเลือกแนวจากไหน? ด้วยเกณฑ์อะไร? ด้วยความชอบ หรือด้วยความเหมาะสม?

ถ้าเราเลือกเขียนแนวที่เราชอบ ที่เราอยากเขียน เราก็จะสนุกไปกับมัน มีความสุขกับการเขียน และตื่นเต้นไปกับเรื่องราว ทำให้เราขยัน รู้สึกอยากเขียนทุกวัน สามารถเขียนได้ต่อเนื่องจนจบ ไม่เบื่อหรือท้อไปเสียก่อน

โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าแนวไหนก็จะมีคนสนใจอ่านอยู่จำนวนหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้างตามความนิยม ในบางกรณีเช่นการเขียนเพื่อส่งสำนักพิมพ์ อาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความนิยมเข้ามาประกอบ เพราะสำนักพิมพ์เขาต้องลงทุนสูง ถ้าเป็นแนวเรื่องที่ดูแล้วขายยาก เขาก็คงไม่กล้าเสี่ยงกับงานของเราไม่ว่าคุณภาพงานจะดีขนาดไหน แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราเขียนเพื่อแบ่งปันกันอ่านในหมู่เพื่อนฝูง หรือเขียนเพื่อขายเองไม่ว่าจะเป็นรูปเล่มหรืออีบุ๊ก เราก็มีอิสระมากขึ้น สามารถเลือกแนวที่อาจจะไม่ได้นิยมกันมาก แต่ตรงกับความชอบของเรามากกว่า ทำให้เราสร้างงานได้ถูกใจมากกว่าด้วย

ถ้าเป็นแนวที่ชอบและอยากเขียน แต่ไม่เคยเขียนล่ะ จะเลือกได้ไหม? ได้สิครับ ทุกคนต้องมีครั้งแรกกันทั้งนั้น นิยายเรื่องแรกของทุกคนก็เป็นแนวที่ไม่เคยเขียน เพราะเราไม่เคยเขียนนิยายมาก่อนสักเรื่องเลยนี่นา ถ้าเราชอบและสนุกกับมัน เราก็จะสามารถเขียนมันออกมาได้ในแบบของเราแน่นอน

ถ้าเป็นแนวที่อยากลองเขียน แต่ปกติแล้วไม่ค่อยชอบอ่านล่ะ จะเลือกได้ไหม? ก็ได้นะครับ แต่ก็ต้องสังเกตตัวเองนิดนึงว่า เราไม่ค่อยชอบอ่านแนวนี้ แล้วทำไมถึงอยากจะเขียนแนวนี้ล่ะ? เพราะมันท้าทาย อยากรู้ว่าตัวเองจะเขียนได้ไหม หรือเพราะมันขายดี ก็เลยอยากเขียนบ้าง หรือเพราะอยากหัด หรือเพราะอยากนึกสนุก  หาเหตุผลของตัวเองให้เจอ จะได้รู้ว่าเมื่อเราเลือกแนวนี้ (ที่อยากเขียนแต่ไม่ค่อยชอบอ่าน) แล้วเราอาจจะต้องระมัดระวังตรงไหนบ้าง หรือจะต้องเพิ่มพูดความรู้ให้กับตัวเองในแนวนี้อย่างไรบ้าง แค่ไหนถึงจะพอให้เราเขียนได้จนจบ และเขียนได้ดี

กรณีของคุณพีทรอบนี้ นั่งคิดนอนคิด (และยืนคิดเดินคิด) มาหลายวัน ตัดสินใจว่าอยากจะลองเขียนแนวแฟนตาซีผจญภัยที่ไม่ใช่แนวรักดูครับ

หนักหนานะเนี่ย

ตั้งแต่เขียนนิยายมา คุณพีทเขียนแนวรักมาตลอด อาจจะเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ หรือแนวรักปนเศร้า หรือกระทั่งรักร้อนแรงรัญจวนชวนหวิว แต่ก็รักนั่นแหละ (และเป็นแนวชายรักชายเสียส่วนใหญ่ ยกเว้นเรื่องเดียวที่รักกันนุงนังไปหมด) เมื่อเร็วๆ นี้นึกอยากเขียนแนวแฟนตาซี หรือผจญภัย หรือเหนือธรรมชาติ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องรักดูบ้าง แต่ก็แค่นึกอยาก ลองคิดเรื่องราวดูเล่นๆ แล้วก็เปลี่ยนหาไอเดียใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับมัน พอพี่ฟีชวนเขียนแรลลี่ และจากขั้นที่ 1 สรุปว่าจะเปิดเรื่องใหม่ ก็เลยคิดว่า งั้นก็เอาแนวนี้แหละที่กำลังอยากเขียนพอดี

ปัญหาที่สำคัญมากๆ ของคุณพีทสำหรับแนวนี้ก็คือ... เมื่อก่อนคุณพีทเคยชอบแนวนี้มากนะครับ ทั้งในรูปแบบหนังสือนิยาย (ส่วนใหญ่อ่านภาษาอังกฤษ) และทีวีซีรี่ส์ แต่พอมาหลังๆ นี่ อ่านหนังสือแนวนี้แล้วรู้สึกเบื่อๆ เหมือนมันคล้ายๆ กันไปหมด เนื้อเรื่องไม่เหมือนกันก็จริง แต่อารมณ์มันประมาณเดียวกันจนความรู้สึกมันเหมือนเดิม มันไม่ตื่นเต้นเหมือนแต่ก่อน ส่วนทีวีซีรี่ส์ ถ้าได้ดูก็ยังชอบอยู่นะครับ แต่ก็ไม่ได้ดูบ่อย (คุณพีทไม่ค่อยดูทีวี) แล้วล่าสุดก็ไม่ได้ดูแนวนี้ต่อเนื่องมานานทีเดียว

ก็เลยเป็นแนวที่อยากเขียน แต่ไม่ใช่แนวถนัดเลยโดยสิ้นเชิง

เอาล่ะสิ แล้ว 120 หน้าในเวลา 40 วัน มันจะไหวไหม?

ปลอบตัวเองว่า มีเวลาอีกสองเดือนครึ่งในการเตรียมตัว แม้จะไม่ได้นั่งคิดทุกวัน วันละแปดชั่วโมง แต่ก็คงจะพอให้เราสร้างไอเดียอะไรได้บ้างล่ะน่า และอีกอย่างเราก็รู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่าเป็นแนวที่ไม่คุ้นเคย เราก็สามารถเตรียมตัวเพื่อตอบรับปัญหานี้ได้แต่เนิ่นๆ

คุณพีทเป็นคนที่ต้องอ่านหนังสือทุกวันครับ อ่านทีละเล่มจนจบ แล้วขึ้นเล่มใหม่ ตอนนี้กำลังอ่านนิยายแนวโรแมนติกขนาดสั้นภาษาอังกฤษอยู่ เรื่องที่สามกำลังใกล้จะจบแล้ว บางทีจบเล่มนี้แล้วอาจจะต้องเปลี่ยนไปหยิบแนวแฟนตาซีผจญภัยมาอ่านบ้าง (จริงๆ ช่วงเดือนที่ผ่านมาก็อ่านไปเล่มนึงเหมือนกัน ถึงได้ฟื้นฟูความอยากขึ้นมาอีกรอบ) อย่างน้อยที่สุดจะได้เป็นการเรียกอารมณ์ (บิ๊วอารมณ์) ให้อยู่ในโหมดแฟนตาซีผจญภัย เวลาจะคิดจะเขียนอะไรจะได้ติดเครื่องได้ง่าย หัวเทียนไม่บอด ไม่ต้องเสียเวลาอุ่นเครื่องนาน

สรุปในขั้นนี้ว่า คุณพีทจะเขียนแนวแฟนตาซีผจญภัย ไม่เน้นความรัก และต้องทำการบ้านในการดึงอารมณ์ตัวเองไปอยู่ในโหมดแฟนตาซีผจญภัยด้วย

ดูเหมือนจะมีเรื่องต้องคิดอีกยาว วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ จะไปนอนนึกถึงหน้าพระเอกและตัวละครคนอื่นๆ ในเรื่องก่อน จะได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกันไว้แต่เนิ่นๆ (ถือว่าเป็นขั้นคัดตัวนักแสดงนะเนี่ย)