แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เหตุการณ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เหตุการณ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (3) เหตุการณ์

ยังเป็นตอนต่อของหัวข้อนี้นะครับ
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
บล็อกนี้เป็นหัวข้อย่อยที่ 3 ครับ สองหัวข้อแรกคือ (1) สถานที่และบรรยากาศ (2) ตัวละคร

ในความเห็นของคุณพีทซึ่งเล่าไว้ในบล็อกที่แล้ว การสร้างไอเดียจาก "เหตุการณ์" กับ "ตัวละคร" มีระดับความง่ายใกล้เคียงกันครับ บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากตัวละคร บางคนอาจจะชอบ/ถนัดที่จะเริ่มจากเหตุการณ์ แต่สองอย่างนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก พอเริ่มคิดจากหัวข้อหนึ่ง มันก็มักจะพาเราไปคิดอีกหัวข้อตามไปด้วย

เพราะตัวละครเป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ หรือไม่ก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางทีก็ทั้งสองอย่างเลยครับ (เรียกว่าสองเด้ง)

เวลาคิดไอเดียเหตุการณ์นี่ มันมีลักษณะของเหตุการณ์อยู่สองแบบนะครับ ไม่มีผิดไม่มีถูก มีประโยชน์ทั้งคู่ แต่ในลักษณะที่ต่างกัน

แบบแรกคือลักษณะที่เป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว มีการกระทำหรือมีสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ซับซ้อน มักจะกินเวลาไม่นาน อาจจะมีคนที่เกียวข้องคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ทุกคนจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นพร้อมๆ กัน แต่อาจจะคนละแง่มุมกัน

ตัวอย่างเช่น
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน (คนเดียว ระยะเวลาสั้นมาก แค่ชั่วนาที)
  • สมศรีสะดุดพื้นตรงประตูทางเข้าตึกสำนักงาน ถลาไปซบอกสมชาย (ระยะเวลาเท่าเดิม แต่มีสองคนเกี่ยวข้อง)
  • สมศรีขับรถชนท้ายสมชาย (สองคน ระยะเวลายาวขึ้นมาหน่อย ประมาณสองสามนาที)
  • สมศรีหักรถหลบคนข้ามถนนไปชนรถสมชายที่สวนมา (สามคน)
  • สมศรีว่ายน้ำที่สระของโรงแรม (หนึ่งคน ระยะเวลาอาจจะเป็นชั่วโมง แต่กิจกรรมหลักๆ มีอย่างเดียว)
  • สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก (คนหลายร้อย ระยะเวลาหลายชั่วโมง สมศรีอาจจะทำอะไรหลายอย่าง เช่น กิน ดื่ม นั่ง ยืน เดิน แต่โดยรวมๆ คืออยู่ที่ห้องจัดงาน)
เป็นต้น

แบบที่สอง เราอาจจะนึกถึง "เหตุการณ์" ที่ฟังเผินๆ เหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่ที่จริงเป็นคำสรุปของเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างที่ประกอบกัน เช่น
  • สมปองลักพาตัวสมศรี (พูดเหมือนเป็นเหตุการณ์เดียว แต่จริงๆ มีหลายขั้นตอน อาจจะกินเวลาตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงเป็นวัน พูดเหมือนมีคนเกี่ยวข้องแค่สองคน แต่จริงๆ มีตัวประกอบคนอื่นๆ เข้ามาร่วมลงมือด้วย)
  • สมปองไต่เต้าตำแหน่งในบริษัทโดยการกำจัดคู่แข่งหลายคน (เป็นการสรุปเหตุการณ์ย่อยหลายเหตุการณ์ที่มีลักษณะเหมือนกัน คือกำจัดทีละคน และเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับ มีผลให้สมปองมีตำแหน่งที่สูงขึ้น)
  • สมชายสืบหาตัวคนขโมยเอกสารลับของท่านเจ้าคุณ (ประกอบด้วยเหตุการณ์ย่อยหลายอย่าง หลายขั้นตอน เกี่ยวข้องกับคนหลายคน และใช้เวลาหลายวันหรือเป็นเดือน)
 เหตุการณ์สองแบบนี้บางทีก็ไม่ได้แยกแยะกันเด็ดขาดนะครับ อาจจะมีช่วงรอยต่อที่แยกได้ยากว่ามันจะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สองกันแน่ ถ้าเราคิดไม่ออกว่าเป็นแบบไหน แสดงว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะมีส่วนประกอบย่อยๆ หลายส่วนหรือมีความซับซ้อน ก็ถือว่าเป็นแบบที่สองไปเลยแล้วกันนะครับ ไม่เสียเวลาดี

ตัวอย่างของเหตุการณ์แบบนี้ก็เช่น สมศรีไปงานแต่งงานของอดีตคนรัก ถ้าใจเราคิดแค่ว่า สมศรีเจ็บช้ำน้ำใจที่ต้องไปเห็นคนรักเก่ากำลังจะมีความสุขกับคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ อันนี้ก็ไม่ซับซ้อน สมศรีจะยืน เดิน นั่ง นอน (เอ๊ะ ไม่ดี) กิน หรือดื่ม ก็ไม่มีความแตกต่าง จุดสำคัญคือ สมศรีเจ็บปวดตลอดเวลางาน ก็เป็นแบบแรก เจ็บปวดลูกเดียว

แต่ถ้าในการไปงานแต่งงานนี้ เราคิดว่ามันจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่างสมศรีกับเจ้าบ่าว หรือกับเจ้าสาว อันนี้ก็อาจจะขยายขึ้นมาเป็นแบบที่สอง คือเริ่มมีส่วนประกอบหลายอย่างซับซ้อนขึ้น สมศรีจะแกล้งเจ้าสาวหรือเปล่า หรือสมศรีจะปีนขึ้นเวทีไปฉีกหน้าเจ้าบ่าว หรือสมศรีจะไปยุแยงใคร เป็นต้น

เวลาเราคิดหาเหตุการณ์หรือสร้างเหตุการณ์ เราไม่จำเป็นต้องสนใจหรอกครับ ว่าเหตุการณ์จะเป็นแบบแรกหรือแบบที่สอง แบบไหนก็คิดไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือก มาคิดต่อ และมาปรับเปลี่ยนทีหลัง

ตอนที่เราเริ่มคิดต่อกับเหตุการณ์ที่ปิ๊งขึ้นมานี่แหละครับ ถ้าเรามองออกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นแบบหนึ่งเดียวหรือซับซ้อน จะทำให้เรามองเห็นช่องทางในการคิดต่อได้หลากหลายขึ้น และอาจจะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่รู้สึกว่า "ตัน" คิดอะไรไม่ออกอยู่เป็นนิจ

ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบแรก คือเป็นเหตุการณ์หนึ่งเดียว เวลาเราคิดสร้างไอเดียต่อ เราก็จะมีคำถามช่วยคิดที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ

     1.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร (โดยใคร เพราะใคร เพื่ออะไร ฯลฯ) คือมองอดีต

     2.  เหตุการณ์นั้นส่งผลอย่างไรต่อไป (และส่งผลกับใคร) คือมองอนาคต

แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์แบบหลังที่ซับซ้อน เราก็จะมีคำถามช่วยคิดเพิ่มขึ้นมาอีกข้อคือ

     3.  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอย่างไรในรายละเอียด (และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง) คือมองกระบวนการ

เวลาเราสร้างไอเดียเหตุการณ์ บางทีเราอาจจะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นกับใครก็ได้นะครับ บางทีเรามีคิดต่อทีหลังว่า ถ้าเราอยากให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ แล้วมันควรจะเกิดขึ้นกับใครถึงจะรุนแรงที่สุด ถึงจะสนุกที่สุด ถึงจะลุ้นที่สุด

ตัวอย่างเช่น อยากเขียนให้มีการลักพาตัว คนที่ถูกลักพาตัวจะเป็นใครดีล่ะ จะเป็นลูกสาวเศรษฐี หรือจะเป็นดาราหนุ่มผู้เป็นที่หมายปองของสาวๆ หรือจะเป็นครูโรงเรียนประถมที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่ารวย หรือจะเป็นเมียน้อยของเสี่ยใหญ่

ถ้าเราอยากให้การลักพาตัวออกแนวรันทด คนที่ถูกลักพาตัวก็จะต้องได้รับผลกระทบมากหน่อย ถ้าเป็นคนรวยอาจจะดูสะเทือนใจไม่พอ เราอาจจะอยากให้เป็นคนจนที่ไม่มีเงินเรียกค่าไถ่ (แต่โจรก็ไม่ยอมเชื่อ) อาจจะเป็นครูประถมที่กำพร้าอยู่กับยายสองคน พอถูกลักพาตัวก็เดือดร้อนกันไปหมด

ถ้าเราอยากให้ออกแนวผจญภัย แอคชั่น แสดงการต่อสู้เอาตัวรอดของนางเอก ก็อาจจะต้องเลือกให้เป็นคนที่มีบุคลิกเด็ดเดี่ยว ไม่จำเป็นต้องบู๊เก่งมาก่อนก็ได้ อาจจะต้องต่อสู้ด้วยสัญชาตญาณ หรือสู้ด้วยสมองแทนที่จะเป็นร่างกาย

ถ้าอยากให้เป็นแนวฮา อาจจะลองลักพาตัวดาราหนุ่มเจ้าสำอางที่ไม่เคยพบความยากลำบาก และคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่นแบบรุนแรงของเพื่อนสนิทเพลย์บอย เป็นต้น

พอนึกถึงคนถูกลักพาตัวแล้ว ก็ต้องนึกถึงคนลักพาตัวควบคู่กันไป ว่าเขาคือใคร เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกลักพาตัวหรือเปล่า มีเหตุผลหรือความต้องการอย่างไรถึงมาลักพาตัว เขาลงมือเอง หรือมีลูกน้อง หรือมีการว่าจ้าง

บางทีเราไม่จำเป็นต้องเอาทุกเหตุำการณ์ที่นึกออกมานั่งคิดรายละเอียดจนทะลุปรุโปร่งก็ได้นะครับ ถ้าคิดออกก็คิดไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายังคิดไม่ออกก็ไม่จำเป็นต้องฝืน เพราะขั้นนี้คือการหาแนวทาง หาไอเดีย ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ตันตรงไหนก็ทิ้งไว้แค่นั้นก่อน หันไปมองไอเดียอื่นๆ เหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คิดไปแล้วเลยก็ยังได้ เอามาคิดต่อยอดแบบเดียวกัน คิดไ้ว้หลายไอเดียก็ไม่เสียหาย บางไอเดียอาจจะไปด้วยกันได้ บางไอเดียอาจจะขัดแย้งกันอย่างแรงจนอยู่ในเรื่องเดียวกันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ใช้ในเรื่องอื่นต่อไป แต่ขั้นนี้คิดอะไรได้ก็จดไว้ก่อน

ส่วนตัวคุณพีทเองไม่ได้ถนัดเรื่องการคิดเหตุการณ์เลยครับ คุณพีทแค่คิดไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ว่าถ้ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มันจะ (1) มีสาเหตุที่มาจากอะไร และ (2) มันจะทำให้เกิดอะไรต่อไป

ในแต่ละคำถาม คุณพีทก็ไม่ได้คิดหาคำตอบหลายแบบมากมาย ถ้าเจอคำตอบที่คิดว่าพอใช้ได้แล้ว คุณพีทก็คิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เลย   นักเขียนบางคนจะไม่ใช้วิธีนี้นะครับ แต่จะหาคำตอบหลายๆ คำตอบก่อน แล้วค่อยมาเลือก อันนี้แล้วแต่วิธีการทำงานและความถนัดของแต่ละคนนะ ของคุณพีทเป็นแบบคิดไม่ค่อยออก ถ้าคิดอะไรออกก็เก็บไว้ก่อน ฮ่าๆ

รายงานต่อจากบล็อกที่แล้วนะครับ พอคุณพีทเริ่มมีรายการตัวละครสองสามกลุ่ม (แต่ยังไม่มีชื่อนะ ยังคิดไม่ออก) คุณพีทก็มองหาเหตุการณ์ที่จะให้ตัวละครเหล่านี้มาเกี่ยวข้องกันด้วยพร้อมๆ กัน

เช่น คุณพีทจะให้พระเอกอพยพย้ายบ้านมาอยู่ในเมืองที่เป็นสถานที่หลักของเรื่อง การอพยพย้ายบ้านนี่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งล่ะ เป็นแบบที่สองด้วย เพราะมันสามารถมีรายละเอียดข้างในได้อีก

และเนื่องจากจะเป็นนิยายแฟนตาซีผจญภัย ในระหว่างการย้ายบ้าน พระเอกก็น่าจะต้องเจอ "ภัย" บางอย่างซะเลย คนอ่านจะได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ คุณพีทก็มานั่งนึกว่า "ภัย" อะไรดีน่าจะเหมาะ เช่น เจอผี เจอสัตว์ป่า เจอโจรสลัด เจอกองทัพประเทศศัตรู หรือเจอหลายๆ อย่างเลยดี

พอเริ่มเลือก "ภัย" ก็มานั่งนึกว่า พระเอกเราต้องรอดนะ เพราะไม่งั้นเรื่องจะจบไว้ แต่จะให้รอดยังไง เอาแบบง่ายๆ พอสร้างบรรยากาศก่อน หรือจะเอาแบบหืดขึ้นคอไปเลย แต่เนื่องจากอยากให้พระเอกย้ายบ้านสำเร็จ ถ้าผจญภัยตอนนี้ยาวนานมาก มีหวัง 120 หน้ายังไม่ถึงเมืองแน่เลย ตรงนี้จะเลือกความโหดแค่ไหนดี

ตอนนี้คุณพีทพอมีไอเดียเรื่อง "ภัย" ในขั้นต้นแล้ว แต่เรื่องทั้งเรื่องยังต้องมีเหตุการณ์หรือ "ภัย" อื่นๆ อีก ก็กำลังค่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ ครับ บางทีพอคิดหา "ภัย" ได้อันหนึ่งแล้ว เราก็เอาไอเดีย "ภัย" นั้นมาดัดแปลงหรือมาหาไอเดีย "ภัย" อื่นต่ออีกก็ได้ด้วย เช่น
เจอสัตว์ป่าตัวเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายตัว

เจอสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง --> เจอสัตว์ป่าชนิดอื่น

เจอสัตว์ป่าชนิดเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายชนิด

เจอสัตว์ป่าทีเดียว --> เจอสัตว์ป่าหลายทีต่อเนื่องกัน
ตอนนี้คุณพีทกำลังนึกถึงอีกกรณีคือ เจอสัตว์ชนิดเดิม แต่เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากเดิม และส่งผลต่อคนที่เกี่ยวข้องแตกต่างจากเดิมด้วยครับ

คุณพีทขอเวลานั่งคิดนอนคิดเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วบล็อกต่อไปเราจะมาคุยกันถึง "เรื่องราว" นะครับ ว่ามันต่างจาก "เหตุการณ์" ยังไง ทำไมคุณพีทถึงแยกเป็นอีกหัวข้อนึง

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไอเดียเริ่มเรื่อง (2) ตัวละคร

ยังคงอยู่ในเรื่องนี้นะครับ
การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่
บล็อกนี้เป็นหัวข้อที่ 2 หลังจากคุยเรื่องสถานที่และบรรยากาศไปแล้ว

ย้ำอีกรอบ (จากบล็อกข้างบน) คือ ในขั้นนี้เราคุยกันแค่การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มต้นนิยายเรื่องใหม่ เวลาเราพูดถึงตัวละคร ไม่ได้หมายความว่า เราต้องสร้างตัวละครทั้งหมดทุกคนออกมาอย่างละเอียดในขั้นนี้นะครับ

ในขั้นนี้เราจะดูแค่ว่า ตอนคิดสร้างไอเดียนิยายเรื่องใหม่เนี่ย การคิดเกี่ยวกับตัวละครจะมาช่วยเราได้อย่างไรบ้าง

ที่จริง ถัดจากสถานที่และบรรยากาศซึ่งเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจนที่สุดแล้ว หัวข้อที่ 2 ตัวละคร กับหัวข้อที่ 3 เหตุการณ์ มีระดับความง่ายในการคิดใกล้เคียงกันครับ ใครถนัดอันไหนมากกว่าก็จะรู้สึกว่าเริ่มคิดจากตรงนั้นง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจากตัวละครก่อนแล้วไปหาเหตุการณ์เสมอไป

ส่วนตัวคุณพีทชอบขลุกอยู่กับตัวละครมากกว่าด้วย แล้วก็อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกคุยเรื่องนี้ก่อนก็คือ ในทุกเหตุการณ์จะต้องมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้อง พอตอนคิดไอเดียเหตุการณ์ เราก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า "ใคร" อยู่ในเหตุการณ์นั้นอยู่ดี ก็เลยคิดว่าคุยตัวละครก่อนแล้วกัน (แต่เวลาคิด จะคิดอันไหนก่อนก็ได้ครับ)

ตัวละครช่วยในการสร้างไอเดียนิยายอย่างมาก (ถึงมากที่สุด) เพราะนิยายคือเรื่องราวของตัวละคร

ถ้าไม่มีตัวละคร ก็ไม่มีนิยาย ไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราว และ... ไม่มีนิยาย

ตัวละครมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในสองแง่มุมหลักๆ คือ (1) เป็นผู้กระทำหรือก่อให้เกิดเหตุการณ์ และ (2) เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ (ไม่ว่าจะตัวเองทำหรือคนอื่นทำ)

ในขั้นของการสร้างไอเดียสำหรับนิยายเรื่องใหม่ คำถามแรกสุดที่ช่วยในการคิดก็คือ เราอยากจะเล่าเรื่องของใคร?

เช่น เราอยากจะเล่าเรื่องของหญิงสาวที่แก่นแก้ว แสนซน กล้าหาญ ไม่ยอมลงให้ใคร แต่ลึกๆ ในใจหวาดกลัวผีเป็นที่สุด!

หรือเรื่องของชายหนุ่มผู้อ่อนโยนเสียจนอ่อนนุ่ม ถูกคนอื่นมองว่าเป็นตุ๊ด ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาชอบผู้หญิง แต่ผู้หญิงกลับเห็นเขาเป็นแค่ "เพื่อนสาว" เสียนี่

หรือเรื่องของหญิงชราที่เคยมีฐานะสูงส่ง แต่ต้องสูญเสียทุกอย่างในชีวิต และต้องต่อสู้ชีวิตทั้งที่ร่างกายไม่เอื้ออำนวยแล้ว

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นนิยายแนวไหน ก็สามารถใช้ตัวละครเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างไอเดียได้ทั้งนั้นครับ ไม่ว่าจะเป็นแนวรัก แนวตลกขบขัน แนวแอคชั่นตื่นเต้น แนวลึกลับสยองขวัญ แนวสืบสวน หรือแนวชีวิตหนักๆ

ในขั้นนี้เราไม่จำเป็นต้องคิดและเค้นเอาข้อมูลทุกอย่างของตัวละครออกมาให้ครบทุกด้าน แค่พอให้เห็นจุดสำคัญๆ ที่ช่วยให้เราสร้างไอเดียต่อได้ก็พอ หาจุดเด่นๆ ที่เราอยากเขียน แล้วคิดต่อไปถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจุดเด่นนั้น พอเราิคิดไปถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวแล้ว มันก็มักจะมาช่วยเราให้คิดต่อได้ว่า ตัวละครต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร เรื่องถึงจะเกิดขึ้นแบบที่เราต้องการ

จากตัวอย่างหญิงสาวแก่นแก้วกล้าหาญแต่กลัวผี สมมุติว่าคิดต่อไปที่เหตุการณ์ให้เกี่ยวข้องหรือใช้ประโยชน์จากลักษณะของตัวละคร เธอก็อาจจะโดนท้าทายให้เข้าไปพิสูจน์ความลึกลับของบ้านผีสิงที่เล่าลือกัน ทีนี้เราก็คิดต่อได้หลายทางเลย แล้วแต่ว่าเราจะชอบทางไหน

เช่น ถ้าเป็นแนวตลกขบขัน บางทีบ้านนั้นอาจจะไม่มีผีเลยสักนิด แต่หญิงสาวจะหลุดแสดงอาการปอดแหกออกมาให้เพื่อนเห็น ทั้งที่พยายามปกปิดอย่างที่สุด

แต่ถ้าเป็นแนวลึกลับสยองขวัญ บ้านนั้นคงต้องมีผีจริงๆ แล้วล่ะ  แล้วพอมีเหตุการณ์ลึกลับเกิดขึ้นในบ้าน หญิงสาวผู้นั้นจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะพ่ายแพ้ต่อการท้าทายหนีไปก่อน หรือจะสติแตกประสาทผวา หรือจะรวบรวมความกล้าหาคำตอบอะไรบางอย่างได้สำเร็จ

เวลาเราคิดถึงตัวละครและสิ่งที่ตัวละครต้องเจอหรือต้องทำ บางทีก็จะทำให้เรามองเห็นว่าต้องมีตัวละครอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อช่วยเติมเต็มเหตุการณ์หรือเรื่องราว ไม่งั้นเรื่องมันก็เกิดขึ้นไม่ได้

อย่างในตัวอย่างข้างต้น เมื่อมีคนถูกท้า ก็ต้องมีคนท้า แล้วคนท้าจะเป็นใคร สำคัญแค่ไหน เกี่ยวข้องกับหญิงสาวอย่างไร ทำไมเธอถึงต้องให้ความสำคัญกับการท้าทายนี้ ทำไมถึงเลี่ยงไม่ได้ คนท้าอาจจะเป็นชายหนุ่มที่เธอแอบชอบ หรืออาจจะเป็นชายหนุ่มที่แอบชอบเธอแต่เธอไม่ชอบ หรืออาจจะเป็นหญิงสาวอีกคนที่เป็นคู่แค้นกันมานาน หรืออาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่

พอเราคิดนู่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเกิดไอเดียว่า ในนิยายของเรามันอาจจะมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นได้บ้าง บางทีคิดไปแล้วไม่ถูกใจ เราก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ ในขั้นนี้เรายังเปลี่ยนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร เหตุการณ์ หรือเรื่องราวครับ

ส่วนของคุณพีทเอง เริ่มต้นคิดจากตัวละครคนเดียวครับ เนื่องจากเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย และคุณพีทอยากให้ตัวละครค้นพบโลกแฟนตาซีนี้ไปพร้อมๆ กันคนอ่าน ดังนั้นพระเอกจึงไม่ได้เติบโตขึ้นมาในเมืองที่เป็นสถานที่หลักของเรื่อง แต่จำเป็นต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง

แล้วทำไมต้องย้ายมาเมืองนี้ล่ะ? ก็ต้องหาเหตุผลให้พระเอก พอเริ่มหาเหตุผล ก็ต้องค่อยๆ ชวนตัวละครคนอื่นๆ เข้ามาร่วมวงกัน ไม่งั้นเดี๋ยวพระเอกจะลอยตุ๊บป่องๆ อยู่คนเดียวในเรื่อง

คุณพีทนั่งคิดนอนคิดมาหลายวัน จากตัวละคร ไปเหตุการณ์ แล้วกลับมาตัวละคร แล้วไปเหตุการณ์อีก ตอนนี้นับคร่าวๆ ได้ตัวละครสำคัญๆ มาหลายคนแล้วครับ ยังไม่ได้แยกแยะชัดเจนว่าใครบ้างจะเป็นตัวละครหลัก ใครจะเป็นตัวละครรอง และใครจะเป็นตัวประกอบ เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และเรื่องราว ว่าใครจะมีบทบาทสำคัญแค่ไหนในเรื่อง

เท่าที่ค้นพบคร่าวๆ ตอนนี้มีพระเอก (หนึ่งคน) ผู้ช่วยพระเอก (หนึ่งคน) ผู้อาวุโสที่ปรึกษาของพระเอก (หนึ่งคน) แล้วก็มีพ่อของพระเอก (หนึ่งคน) แม่ของพระเอก (หนึ่งคน) และคนทำงานในบ้านอีกจำนวนหนึ่ง อันนี้ฝั่งพระเอก

(เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ใช่แนวรัก เลยไม่มีพระเอกคนที่สองนะครับ มีคนเดียวพอแล้ว)

แล้วก็ต้องมีฝั่งอุปสรรค ต้องมีคนที่คอยสร้างอุปสรรคให้พระเอก (หนึ่งคน) ต้องมีคู่แข่งพระเอก (หนึ่งคน ไม่งั้นพระเอกจะสบายไป) และกำลังคิดว่าอาจจะมีตัวละครในระดับเดียวกันกับพระเอกและคู่แข่ง ที่เป็นชนวนให้เกิดการแข่งขันขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อนพระเอกเสียทีเดียว เป็นคนเพิ่มความยุ่งยากเสียมากกว่า (หนึ่งคน) และในบรรดาอุปสรรคเหล่านี้ ก็ต้องมีลูกน้องหรือผู้รับใช้อีกจำนวนหนึ่ง

เนื่องจากนิยายเรื่องนี้จะไม่ยาวมาก ประมาณ 120 หน้า เรื่องราวคงไม่ซับซ้อนมาก คุณพีทเลยคิดว่าเริ่มต้นจากแค่นี้ก่อน น่าจะเพียงพอสำหรับบทบาทหลักๆ ที่ทำให้เกิดการผจญภัยขึ้นได้ และทำให้มีอุปสรรคในการผจญภัยด้วย

ส่วน "ภัย" ที่ต้องผจญนั้น จะเป็นอะไร ยากง่ายแค่ไหน ต้องมี "ผู้ร้าย" หรือเปล่า คุณพีทขอเวลาคิดเหตุการณ์กับเรื่องราวก่อนนะครับ ตอนนี้ยังไม่รู้เลยจริงๆ นะเนี่ย

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การสร้างไอเดียเพื่อเริ่มนิยายเรื่องใหม่

ไอเดีย แปลง่ายๆ ว่าความคิด ในการทำงานแทบทุกอย่างเรามักจะใช้ไอเดียเสมอ ในการเขียนนิยาย เรายิ่งต้องใช้ไอเดียในแทบจะทุกขั้นตอนเลยนะครับ เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้น ยาวไปจนจรดนิ้วบนแป้นพิมพ์กลั่นความคิดมาเป็นตัวหนังสือเลยทีเดียว

ในบล็อกนี้ เราจะขีดเส้นคุยกันเฉพาะตอนเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ก่อนนะครับ เพราะตอนนี้คุณพีทยังอยู่ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาจากบล็อกแรก คือ
จะเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องใหม่ ต้องคิดอะไรบ้างนะ?
เท้าความนิดนึงว่าคุณพีทกำลังจะเริ่มเขียนนิยายอีกครั้ง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่ที่เว็บฟอร์ไรท์เตอร์ เลยต้องมานั่งคิดเตรียมตัวสำหรับการเขียน โดยเริ่มจาก

1. พิจารณากรอบหรือข้อกำหนดในการเขียนนิยายครั้งนี้แล้วสรุปว่า จะเปิดเรื่องใหม่ (ไม่เขียนต่อจากเรื่องชุดเดิมที่ค้างไว้) ความยาว 120 หน้า ระยะเวลาเขียนจริงไม่เกิน 40 วัน

2. นิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย และไม่เน้นความรัก

ขั้นต่อไปคือ

3. สร้างไอเดียว่าเรื่องที่เราจะเขียน มันจะเกี่ยวกับอะไร เป็นเรื่องของใครบ้าง โทนอารมณ์ของเรื่องเป็นแบบไหน แนวทางการดำเนินเรื่องจะเป็นยังไง

ซึ่งก็คือขั้นที่เราจะคุยกันในบล็อกนี้ครับ

มีเรื่องสำคัญมากๆ เรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงและทำความเข้าใจกันก่อน คนที่เขียนนิยายมาหลายๆ เรื่องจะรู้แล้ว แต่คนที่เพิ่งเริ่มเขียน หรือคนที่อ่านตำราเขียนนิยายแต่ยังไม่ได้ลองเขียน อาจจะไม่ทันนึกถึงหรือไม่ทันสังเกต

เวลาเราอ่านตำรา เขาเขียนเพื่อให้คนอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพตามได้ง่าย เลยมักจะอธิบายขั้นตอนการทำงานเป็นขั้นๆ อย่างชัดเจน เป็นระเบียบเรียบร้อย ว่าขั้นแรกต้องคิดเรื่องนี้นะ แล้วต้องมาเรื่องนี้ เช่น เรื่องพล็อต ตัวละคร การดำเนินเรื่อง มุมมอง ฯลฯ (ยังไม่ต้องสนใจว่าอันไหนคืออะไรนะครับ ยกตัวอย่างให้ดูเฉยๆ)

บางทีคนที่ไม่เคยเขียนหรือเพิ่งเริ่มเขียน อ่านแล้วอาจจะนึกไปว่า เราต้องคิดทีละหัวข้อ แล้วคิดให้เสร็จเป็นหัวข้อๆ ไป แล้วพอลองลงมือทำตาม คนส่วนใหญ่ก็มักจะติดขัด เพราะจะคิดให้ "เสร็จ" ทั้งหัวข้อนี่ มันเยอะนะ และทำให้รู้สึกว่ายาก

ในทางปฏิบัติ คนที่เขียนนิยายมาเยอะๆ จะรู้ไปเองว่า เวลาคิดเราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปทีละหัวข้อ แต่มันค่อยๆ คิดไปพร้อมๆ กันทุกหัวข้อนั่นแหละ แต่ทีละนิดละหน่อย จนกระทั่งมันค่อยๆ ประกอบรวมกันเป็นเรื่องราวที่สมบูรณ์ตอนที่เราจรดนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ในที่สุด

เพราะฉะนั้นในแต่ละหัวข้อนี่ เราอาจจะคิดไปแล้ว แต่ยังไม่ละเอียด ยังมัวๆ อยู่ แต่พอเราคิดเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน มันก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ิคิดไปแล้ว ย้อนกลับไปกลับมาหลายตลบ จนได้เรื่องราวที่ถูกใจที่สุดออกมา

ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับการปั้นดินน้ำมันนะครับ สมมุติเราจะปั้นรูปช้าง เราอาจจะเลือกปั้นตรงไหนก่อนก็ได้ อาจจะหัว หรือหู หรืองวง หรืองา หรือขา หรือพุง หรือบางคนอาจจะคลึงดินน้ำมันเป็นเส้นยาวๆ แล้วทำหางก่อนเป็นอันดับแรกก็ยังได้!

พอเราปั้นชิ้นแรกแล้ว อาจจะเป็นหัว แต่พอเราปั้นงา เอามาลองติดดู แล้วมันเล็กไปหรือใหญ่ไป ดูแล้วเหมือนช้างพิการ เราก็ต้องแก้ใหม่ อาจจะเอาดินน้ำมันมาแปะหัวให้ใหญ่ขึ้น หรือเด็ดดินน้ำมันออกจากงาให้มันสั้นลง

หรือพอเราปั้นขาแล้ว เอามาต่อกับตัว ดูไปดูมาคล้ายขาหมู (พะโล้) มากกว่าขาช้าง จะแค่แปะเพิ่มหรือเด็ดออกคงไม่พอ อาจต้องรื้อขา (ดูตัวอย่างจากหนังสือการ์ตูน?) แล้วปั้นใหม่กันเลยทีเดียว ไม่งั้นเดี๋ยวช้างของเราจะกลายเป็นช้างพะโล้รมควัน

การเขียนนิยายก็คล้ายๆ กันนะครับ สมมุติเราเริ่มจากตัวละคร คิดไปคิดมา จะให้คนนี้เป็นแบบนี้ คนนั้นเป็นแบบนั้น ดูน่าจะถูกใจดีแล้วนะ แต่นิยายไม่ใช่แค่ข้อมูลรายละเอียดตัวละคร มันต้องมีการกระทำ มีเรื่องราว พอเรามาคิดเรื่องราวและการกระทำของตัวละคร ไอ้ที่เคยคิดเอาไว้อาจจะไม่เหมาะเสียแล้ว ต้องเปลี่ยนอาชีพพระเอกใหม่ ต้องเปลี่ยนบุคลิกผู้ร้ายใหม่ เพื่อให้เรื่องราวมันเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

นี่เป็นสิ่งแรกที่ควรสังเกตและทำความเข้าใจ ในการคิดเพื่อเขียนนิยายครับ โดยสรุปก็คือ ในทางปฏิบัิติแล้ว เราไม่ได้คิดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปเลยทีละหัวข้อ ก่อนที่จะขึ้นหัวข้อใหม่ (ตามที่ตำราเขียนบอก) เพราะทุกหัวข้อมันเกี่ยวข้องกันไปหมด (เหมือนหัวช้างกับงาช้าง หรือเหมือนบุคลิกตัวละคร กับการกระทำของตัวละคร) แต่เรามักจะค่อยๆ คิดทุกหัวข้อไปด้วยกัน ทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งแต่ละส่วนค่อยๆ ชัดเจนขึ้น และมาประกอบกันเป็นภาพรวมในที่สุด

เพราะฉะนั้นในขั้นที่ 3 หรือการสร้างไอเดียนี้ จึงเหมือนกับการวาดรูปไว้ในใจ (หรือในสมุด) โดยคร่าวๆ ว่าเรื่องราวของเราจะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง จะมีใครมาเกี่ยวข้องบ้าง เหตุการณ์มันจะเป็นทำนองไหนบ้าง โดยที่รายละเอียดแต่ละส่วนจะยังไม่ชัดเจนเลย แต่ดูรวมๆ แล้วพอเห็นโครงคร่าวๆ ว่า นี่คือช้างนะ เอ๊ย นี่คือนิยายเรื่องนี้นะ

การ "หา" ไอเดียเพื่อมาสร้างภาพคร่าวๆ ในขั้นนี้ ก็ใช้เทคนิคไม่ต่างจาการ "หา" ไอเดียในขั้นอื่นๆ หรือในการทำงานทั่วๆ ไปนะครับ อาจจะหาจากสิ่งรอบตัว จากการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ แต่ในบล็อกนี้เราจะยังไม่คุยเรื่องนี้ก่อนนะ เราจะข้ามไปก่อน แล้วมาดูเรื่องการ "คิด" หรือ "สร้าง" ไอเดียกันเลย ว่าเมื่อเราหาไอเดีย/แรงบันดาลใจจากแหล่งต่างๆ แล้ว ตอนเอามาสร้างเป็นนิยายเรื่องใหม่นี่ มันคิดจากตรงไหนได้บ้าง

มีแนวทางง่ายๆ ที่ใช้ช่วยเริ่มต้นสร้างไอเดียสำหรับนิยายเรื่องใหม่ 4 แนวทางครับ จะเลือกใช้แค่แนวทางเดียว หรือใช้หลายแนวทางประกอบกันก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน  คุณพีทจะเล่าโดยเรียงจากแนวทางที่คิดว่าเห็นภาพได้ง่าย เป็นรูปธรรมที่สุด ไปหาแนวทางที่ใช้ัจินตนาการมากขึ้นนะครับ

สำหรับบล็อกนี้ คุณพีทจะพูดถึงสี่หัวข้อนี้คร่าวๆ ให้เห็นภาพรวมก่อน แล้วบล็อกต่อๆ ไป จะหยิบแต่ละหัวข้อมาเจาะในรายละเอียด พร้อมทั้งบันทึกว่าคุณพีทได้ใช้แนวทางในหัวข้อนั้นกับการคิดนิยายเรื่องนี้ยังไงบ้างนะครับ

3.1 สถานที่และบรรยากาศของเรื่อง เป็นจุดที่คิดได้ง่าย เห็นภาพได้ง่ายที่สุด และเป็นจุดเด่นของนิยายหลายเรื่อง (และหลายแนว) ที่นิยมกันมากก็เช่นนิยายแนวทะเลทราย บางคนอยากให้มีปิระมิด บางคนนึกถึงแม่น้ำไนล์ บางคนชอบบรรยากาศกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อน (เบดูอิน) หรือการขี่อูฐกลางแสงจันทร์ ถ้าไ่ม่ใช่แนวทะเลทราย บางคนอยากเขียนบรรยากาศของรีสอร์ตบ้านไร่ บางคนอยากเขียนแนวชายหาด ชายทะเล หรือเกาะ บางคนถนัดแนวป่า บางคนอาจจะชอบแนวโลกแฟนตาซี มีป่าลึกลับ มีปราสาท เป็นต้น

3.2 ตัวละคร ไม่ว่าเร็วหรือช้า ก็หนีตัวละครไปไม่พ้นนะครับ เพราะตัวละครเป็นผู้เล่น เป็นผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ถ้าไม่มีตัวละคร ก็ไม่มีนิยาย บางคนอยากเขียนนางเอกที่แก่นแก้วแสนซน หรือนางเอกที่เก็บกดแข็งนอกอ่อนใน บางคนอยากเขียนพระเอกที่ร้ายสุดๆ แต่สยบให้นางเอกคนเดียว บางคนอาจจะอยากเขียนตัวละครที่สดใสร่าเริงภายนอก แต่ลึกๆ แล้วอ่อนไหวและอ่อนแอ เป็นตัว

3.3 เหตุการณ์ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งของเรื่อง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร (มักจะเป็นตัวละครหลัก เพราะในขั้นนี้เรายังคิดคร่าวๆ ตัวละครประกอบยังไม่ค่อยโผล่) เช่น รถชน แต่งงาน ทะเลาะกัน โดนโกง สะดุดเท้าหกล้มหัวทิ่ม ตกหลุมรัก เสียพนัน เล่นกีฬา เหตุการณ์เหล่านี้ดูเหมือนมันจะเล็กๆ แต่มันก็เป็นไอเดียเริ่มต้นให้มีเรื่องราวติดตามมาเป็นขบวนยาวเหยียดได้เหมือนกัน

3.4 เรื่องราว หมายถึงการที่เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องเกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนเกิดเป็นเรื่องราวที่มีความหมายหรือสร้างความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา เช่น (ตัวอย่างมาตรฐาน) นางเอกเป็นหญิงสาวผู้ต่ำต้อย (ในด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะเป็นฐานะ การศึกษา การงาน) ถูกกดขี่ข่มเหงจากคนรอบข้าง (แม่เลี้ยง เจ้านาย) จนกระทั่งได้พบและตกหลุมรักพระเอกซึ่งเป็นชายสูงศักดิ์ (การเงิน การงาน ฐานะทางสังคม) และต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ฯลฯ จนความรักสมหวังในที่สุด เป็นต้น

(ไอเดียของเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะเรียกว่าพล็อต แต่คุณพีทขอเรียกว่า "เรื่องราว" ก่อนนะครับ เพราะคำว่า "พล็อต" นี้เป็นคำเจ้าปัญหา ตำราภาษาไหนๆ ก็แปลเหมือนกันมั่งต่างกันมั่ง นักเขียนแต่ละคนก็มีนิยามคำนี้ต่างๆ กันไป ซึ่งมีประโยชน์ทุกแบบ แต่ในขั้นนี้เรายังไม่ต้องสนใจก็ได้ ว่ามันจะเรียกว่าพล็อตหรือเปล่า ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องเป็นราวก็พอแล้ว)

และในหัวข้อเรื่องราวนี้ บางคนอาจจะคิดถึง "ชื่อเรื่อง" ของนิยายด้วยเลยก็ได้ เพราะชื่อเรื่องโดยส่วนใหญ่ มักจะสะท้อนหัวใจของเรื่องราวในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ระหว่างที่เราเลือกหาชื่อเรื่องที่ถูกใจ เราก็กำลังคิดและขัดเกลาเรื่องราวในใจไปด้วยพร้อมๆ กันครับ

รายงานในขั้นต้นว่า ขณะนี้คุณพีทกำลังค่อยๆ คิดในขั้นนี้อยู่ เนื่องจากคุณพีทมักจะผูกพันกับตัวละครมากที่สุด ก็เลยเริ่มจากตัวละครก่อน แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงสถานที่กับเหตุการณ์ไปทีละนิด (เนื่องจากเป็นแนวแฟนตาซีผจญภัย ก็เลยต้องให้ความสำคัญกับสถานที่หน่อย) ส่วนตรงเรื่องราวโดยรวม ยังไม่ค่อยได้นึกถึงเท่าไหร่

บล็อกต่อๆ ไปเราจะมาคุยเจาะกันทีละหัวข้อนะครับ